พระโสณาเถรี เกิดในตระกูลเศรษฐี ในเมืองสาวัตถี ได้ชื่อว่า “โสณา” เมื่อเจริญวัยแล้วได้มีคู่ครองที่มีฐานะเสมอกัน อยู่ร่วมกันมามีบุตร ๗ คน มีธิดา ๗ คน
* จากเศรษฐีเป็นอนาถา
เมื่อบุตรธิดาทั้งหลายเจริญวัยแล้วได้แต่งงานมีคู่ครองเรือนแยกย้ายกันออกไปอยู่ตามลำพัง ต่างก็มีฐานะความเป็นอยู่สุขสบายตามสมควรแก่อัตภาพฆราวาสวิสัย ต่อมาสามีของนางถึงแก่กรรมลง นางได้ปกครองดูแลทรัพย์สมบัติทั้งหมดโดยยังมิได้จัดสรรแบ่งปันให้แก่บุตรธิดาเลย และต่อมา บุตรธิดาเหล่านั้นได้พากันพาพูดกับนางบ่อย ๆ ว่า “คุณแม่ บิดาของพวกข้าพเจ้าก็ตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติเหล่านี้แม่จะเก็บเอาไว้ทำไม หรือแม่เกรงว่าพวกเราทั้ง ๑๔ คนนี้จะเลี้ยงแม่ไม่ได้” นางโสณาได้ฟังคำของลูก ๆ มาพูดกันอยู่บ่อย ๆ ก็คิดว่า “เมื่อเราแบ่งทรัพย์สมบัติให้แล้ว ลูก ๆ ก็คงจะเลี้ยงดูเราให้มีความสุขได้ ไม่ต้องลำบาก” เมื่อคิดอย่างนี้แล้ว นางก็แบ่งทรัพย์สมบัติให้แก่ลูกชายหญิงทั้ง ๑๔ คน ๆ ละเท่า ๆ กัน
แล้วนางก็ไปอยู่อาศัยกลับลูกชายคนโต เมื่อไปอยู่ใหม่ ๆ ก็ได้รับการปฏิบัติ ดูแลอย่างดี แต่เมื่อนานไปลูกสะใภ้ก็เริ่มมีความรังเกียจ พูดจาเสียดสีขึ้นวันละเล็กวันละน้อย พร้อมทั้งไปยุแหย่ให้สามีรังเกียจแม่ของตนเอง เมื่อพูดบ่อย ๆ เข้า สามี ก็เห็นคล้อยตามด้วย จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูกสะใภ้ได้พูดกับนางว่า “คุณแม่ความจริงแม่ก็มีลูกชายลูกหญิงตั้งหลายคน ทรัพย์สมบัติทั้งหลายแม่ก็แบ่งให้เท่า ๆ กัน มิใช่ว่าฉันจะได้ ๒ ส่วนมากกว่าคนอื่น ๆ แต่ทำไมแม่จึงมาอยู่มากินแต่ที่บ้านฉันคนเดียว แม่ไม่รู้จักทางไปบ้านลูกคนอื่นเลยหรือ ?”
* ไร้ที่พึ่งพาจึงออกบวช
นางโสณา ได้ฟังคำของลูกสะใภ้แล้ว อีกทั้งลูกชายก็ดูท่าทีคล้อยตามภรรยาของตน นางจึงจำใจห่อของใช้ส่วนตัวไปอาศัยลูกคนต่อ ๆ ไป และเหตุการณ์ก็เป็นไปทำนองเดียวกัน นางไม่สามารถจะพึ่งพาอาศัยลูกชายและลูกหญิงทั้ง ๑๔ คนนั้นได้ จึงคิดว่า “จะมีประโยชน์อะไรกับการอาศัยลูกเหล่านี้เราไปบวชเป็นภิกษุณีจะดีกว่า”
นางโสณา ได้ไปยังสำนักภิกษุณีสงฆ์ ขอบรรพชาอุปสมบทเป็นภิกษุณี เพราะความที่นางเป็นผู้มีลูกมาจึงได้ชื่อว่า “พหุปตติกาเถรี” นางเองก็คิดว่า “เราบวชในวัยชราไม่ควรที่จะอยู่ด้วยความประมาท” จงได้ช่วยนางภิกษุณีทั้งหลายทำวัตรปฏิบัติตามกิจของภิกษุณีสงฆ์ แต่เพราะความเป็นผู้บวชใหม่ และอยู่ในวัยชราจึงทำกิจบกพร่อง นางภิกษุณีทั้งหลายจึงกระทำทัณฑกรรมลงโทษแก่เธอโดยให้เธอทำหน้าที่ ต้มน้ำอุ่นให้ภิกษุณีทั้งหลายสรง ทั้งเช้า-เย็นเป็นประจำ บุตรธิดาของเธอได้มาเห็น ก็พากันพูดจาเยาะเย้ยจนเธอรู้สึกสลดใจ
วันหนึ่ง พระโสณาเถรี ได้ไปหาฟืนและตักน้ำมาไว้ในโรงครัว แต่ยังมิได้ก่อไฟ พระเถรีก็คิดว่า “เราไม่ควรประมาท ควรจะอาศัยเวลาและสถานที่อันสงบสงัดนี้ บำเพ็ญสมณธรรมทั้งกลางวันและกลางคืน” คิดดังนี้แล้วก็ได้พิจารณาอาการ ๓๒ ท่องบนภาวนาไป เดินจงกรมไปโดยยึดเสาโรงครัวเป็นแกนกลางเดินวนรอบเสาสำรวมจิตเจริญวิปัสสนา
* สำเร็จอรหันต์แสดงอภินิหาริย์
ขณะนั้น สมเด็จพระบรมศาสดา ประทับอยู่ในพระคันธกุฎี ทรงทราบด้วยพระฌาณ จึงทรงเปล่งพระโอภาสรัศมีปานประหนึ่งว่าประทับอยู่ตรงหน้าพระเถรีนั้นแล้วตรัสสอนว่า “ดูก่อนนพหุปุตติกา ชีวิตความเป็นอยู่เพียงวันเดียวครู่เดียว ของผู้ที่เห็นธรรมอันสูงสุดที่เราได้แสดงแล้ว ดีกว่าประเสริฐกว่าชีวิตความเป็นอยู่ตั้ง ๑๐๐ ปี ของผู้ไม่เห็นธรรม”
พอสิ้นสุดพุทธดำรัสพระเถรีก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย และเมื่อสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว จึงคิดว่า “เมื่อภิกษุณีเหล่านั้นมาเพื่อต้องการน้ำอุ่น พอเห็นเราแล้วไม่ทันได้ใคร่ครวญ ก็จะพูดล่วงเกินดูหมิ่นเราเหมือนก่อน ก็จะได้รับบาปกรรมอันหนัก เราควรจะทำอะไรพอเห็นที่สังเกตให้พวกเขากำหนดรู้สักอย่างหนึ่ง” แล้วนางก็ยกภาชนะต้มน้ำขึ้นตั้งบนเตาไฟ แต่มิได้ก่อไฟเพียงแต่ใส่ฟืนเข้าไว้ เมื่อนางภิกษุณีทั้งหลายมาที่โรงครัว เพื่อจะนำน้ำอุ่นไปสรง เห็นมีแต่ภาชนะต้มน้ำอยู่บนเตาไฟแต่ไม่เห็นไฟ จึงกล่าวว่า
“พวกเราบอกให้หญิงแก่คนนี้ต้มน้ำถวายภิกษุณีเพื่อนำไปสรง จนบัดนี้นางก็ยังไม่ได้ใส่ไฟในเตาเลย ไม่ทราบว่านางมัวทำอะไรอยู่”
พระโสณาเถรี จึงกล่าวว่า
“ข้าแต่แม่เจ้า ถ้าท่านทั้งหลายต้องการน้ำอุ่นไปสรง ก็จงตักเอาจากภาชนะนั้นเถิด”
แล้วพระเถรี ก็อธิษฐานเตโชธาตำทำให้น้ำนั้นอุ่นขึ้นทันที ภิกษุณีทั้งหลายได้ฟังคำของนางแล้วก็คิดว่า “คงจะมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่” จึงทดลองใช้มือจุ่มลงในภาชนะ ก็ทราบว่าเป็นน้ำอุ่น จึงตักเอาไปสรงทั่วกัน แต่ว่าตักสักเท่าใด น้ำก็ยังปรากฏเต็มภาชนะอยู่เช่นเดิม ภิกษุณีทั้งหลายจึงทราบชัดว่า พระเถรีนี้ สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ต่างก็พากันตกใจ
นางภิกษุณี ผู้มีวัยอ่อนกว่า ก็ก้มกราบแทบเท้ากล้าวขอขมาโทษว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้า พวกข้าพเจ้าได้พูดจาดูหมิ่นล่วงเกินท่าน พระความเขลาเบาปัญญา มิได้พิจารณาให้รอบครอบตลอดกาลนานมาแล้ว ขอพระแม่เจ้าจงเมตตาอดโทษแก่พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”
ส่วนนางภิกษุณีผู้มีวัยแก่กว่าก็นั่งกระหย่ง (นั่งคุกเข่า) กล่าวขอขมาให้อดโทษานุโทษให้เช่นกัน โดยขอขมาโทษด้วยคำว่า “ข้าแต่พระแม่เจ้าพวกข้าพเจ้าได้พูดจาดูหมิ่นล่วงเกินท่าน โดยมิได้พิจารณาให้รอบคอบตลอดกาลนานมาแล้ว ขอท่านจงอเมตตาอดโทษให้พวกข้าพเจ้าด้วยเถิด”
* ได้รับการยกย่องเป็นเลิศทางความเพียร
ตั้งแต่นั้นมา คุณงามความดีของพระโสณาเถรี ก็ปรากฏเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า “พระเถรี ผู้แม้บวชในเวลาแก่เฒ่า ก็ยังสามารถดำรงอยู่ในพระอรหัตผลได้ในเวลาไม่นาน เพราะอาศัยความเป็นผู้ปรารภความเพียรไม่เกียจคร้าน”
พระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อทรงสถาปนาภิกษุณีทั้งหลาย ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับแล้ว อาศัยความเป็นผู้ปรารภความเพียร ขยัน ไม่เกียจคร้านของพระเถรีนี้ จึงได้ทรงสถาปนาพระนางโสณาเถรี นี้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้เป็นผู้ปรารถนาความเพียร
* อภิญญา ปัญญาเป็นเครื่องรู้ยิ่ง มี ๖ อย่าง
๑. อิทธิวิธี แสดงฤทธิ์ต่าง ๆ ได้
๒. ทิพพโสต หูทิพย์
๓. เจโตปริยญาณ ญาณที่ให้ทายใจคนอื่นได้
๔. ปุพเพนิวาสานุสสติ ญาณที่ทำให้ระลึกชาติได้
๕. ทิพพจักขุ ตาทิพย์
๖. อาสวักขยญาณ ญาณที่ทำให้อาสวะสิ้นไป
(๕ อย่างแรกเป็นโลกิยอภิญญา ข้อสุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา)
No comments:
Post a Comment