2009-01-08

พระรัฐบาลเถระ เอตทัคคะในทางผู้บวชด้วยศรัทธา

พระรัฐบาล เป็นบุตรของเศรษฐีผู้ชื่อว่ารัฐบาลเหมือนกัน และรัฐบาลเศรษฐีผู้เป็นบิดาของท่านเป็นหัวหน้าหมู่บ้านถุลลโกฏฐิตนิคม ในแคว้นกุรุ

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปสู่แคว้นกุรุ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ สาวกเป็นบริวาร ประทับอยู่ที่ถุลลโฏฐิตนิคมนั้น ขณะนั้น ชาวบ้านซึ่งประกอบด้วยพราหมณ์และคฤหบดีจำนวนมาก ได้ทราบข่าวการเสด็จมาก็พากันไปเฝ้าพระบรมศาสดา และมีชายหนุ่มชื่อรัฐบาลไปด้วย ได้ถวายบังคมแล้วนั่งในที่อันสมควรแก่ตน ส่วนบรรดาชนอื่น ๆ เหล่านั้น บางพวกถวายบังคม บางพวกได้แต่พูดจาปราศรัย บางพวกเพียงแต่ประนมมือไหว้ และบางพวกก็ประกาศชื่อโคตรของตน พระพุทธองค์ทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดชาวบ้านทั้งหลายเหล่านั้น ให้เกิดความเลื่อมใสทั่วกัน ครั้นจบพระธรรมเทศนา ประชาชนทั้งหลายพากันกราบทูลลากลับสู่บ้านของตน ๆ ส่วนนายรัฐบาลนั้นเกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างแรงกล้า เมื่อประชาชนกลับกันหมดแล้ว จึงได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์รับสั่งให้กลับไปขออนุญาตจากบิดามารดาก่อน

* บวชด้วยศรัทธาแรงกล้า
นายรัฐบาล เมื่อได้ฟังพุทธดำรัสแล้ว รีบกลับไปบ้านแล้วเข้าไปหาบิดามารดา กล่าวขออนุญาตบวช แต่ไม่ได้รับอนุญาตจึงเกิดความผิดหวังเสียไม่ยอมรับประทานอาหาร บอกกับบิดามารดาว่า “ถ้าไม่ได้บวชก็จะขอยอมตาย” บิดามารดาเห็นลูกชายทำจริงก็เกรงว่าลูกชายจะตายจึงได้ไปขอร้องเพื่อนสนิทของลูกชายให้มาช่วยพูดอ้อนวอน เพื่อให้เลิกล้มความตั้งใจแต่ก็ไม่เป็นผล ในที่สุดก็ได้รับคำแนะนำจากเพื่อนของลูกชายว่า “ถ้าไม่ยอมให้ลูกชายบวช ลูกอาจจะตายจริง ๆ แต่ถ้าลูกได้บวชเราก็ยังจะได้เห็นลูกบ้างในบางโอกาส หรือเมื่อลูกบวชแล้วได้รับความลำบากเบื่อหน่ายก็จะสึกออกมาภายหลังก็ได้” เมื่อได้รับคำแนะนำดังนี้แล้ว ก็เห็นดีด้วย จึงบอกแก่ลูกชายว่า “พ่อแม่อนุญาตแล้ว ขอให้เจ้าบวชได้ตามความปรารถนาเถิด”

นายรัฐบาล ดีใจมากรีบลุกขึ้นอาบน้ำและรับประทานอาหารมีเรี่ยวแรงดีแล้ว ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลให้ทราบว่าได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้ว พระพุทธองค์ประทานการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ ในพระพุทธศาสนาตามประสงค์ ครั้นบวชแล้วท่านเศรษฐีผู้เป็นบิดารู้สึกเศร้าโศกเสียดายลูกชาย และรู้สึกโกรธเคืองพระภิกษุสงฆ์ต้นเหตุให้เสียลูกชาย ยามใดได้พบพระภิกษุสงฆ์ จะต้องตัดพ้อต่อว่าด้วยคำว่า “เราไม่ต้องการที่จะพบเห็นพวกท่านเลย เพราะเรามีลูกชายอยู่คนเดียวเท่านั้น พวกท่านก็มาพาเอาไปบวชเสียอีก ทำให้ตระกูลของเราต้องขาดทายาทสืบตระกูล”

* บิดามารดาอ้อนวอนให้สึก
พระรัฐบาล เมื่อบวชแล้ว ได้ติดตามเสด็จพระบรมศาสดา ไปที่เมืองสาวัตถี ทำความ เพียรเจริญวิปัสสนากรรมฐานด้วยความไม่ประมาท ชั่วระยะเวลาไม่นานก็ได้สำเร็จพระอรหัตผล เป็นพระอริยบุคคล สิ้นกิเลสาสวะทั้งปวง จากนั้นท่านได้กราบทูลลาพระบรมศาสดา ไปสู่ถุลลโกฏฐิตนิคม อันเป็นตำบลบ้านเกิดของท่าน ได้เข้าไปพักที่สวนมิคจิรวัน อันเป็นพระราชอุทยานของพระเจ้าโกรัพยะ พอรุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าง แต่ไม่มีผู้ใดใส่บาตรแก่ท่านเลย ท่านเดินไปเรื่อย ๆ ตามลำดับจนมาถึงบ้านบิดามารดาของท่านเอง ท่านเห็นนางทาสีเดินถือถาดขนมบูดออกมา จึงถามว่า “จะนำไปไหน ?” นางทาสีตอบว่า “จะนำขนมบูดไปทิ้ง” ท่านจึงบอก “ให้ทิ้งลงในบาตรของท่าน” นางทาสีจำท่านได้ จึงรีบกลับไปบอกเศรษฐี บิดามารดาของท่านพอได้ทราบก็ดีใจสุดประมาณ รีบออกจากบ้าน ติดตามไปพบท่านนั่งพิงฝาเรือนคนอื่นกำลังฉันภัตตาหารคือขนมบูดอยู่ จึงนิมนต์ให้ท่านไปฉันในบ้าน ท่านตอบว่า “วันนี้ฉันแล้ว” จึงนิมนต์ให้ท่านไปฉันในวันรุ่งขึ้น และท่านรับนิมนต์

ครั้นวันรุ่งขึ้น ท่านเข้าไปฉันภัตตาหารในบ้านของเศรษฐี บิดามารดาได้ถวายอาหารอันประณีตแก่ท่านแล้ว นำทรัพย์สมบัติของมีค่าออกมาแสดงให้ท่านเห็นแล้ว ช่วยกันพูดอ้อนวอนให้ท่านสึกออกมาครอบครองทรัพย์สมบัติเหล่านี้ แต่ท่านก็ปฏิเสธอย่างไม่มีอาลัย เมื่อฉันเสร็จ แล้วก็กล่าวอนุโมทนาและกลับสู่สวนมิคจิรวันที่พักตามเดิม

* แสดงธรรมเทศแด่พระเจ้าโกรัพยะ
วันหนึ่งพระเจ้าโกรัพยะ เสด็จประพาสราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพระรัฐบาลแล้ว ทรงจำได้เพราะเคยรู้จักท่านและตระกูลของท่านเป็นอย่างดีมาก่อน จึงเสด็จเข้าไปหาทักทาย สนทนาด้วยแล้วประทับนั่ง ณ ที่อันสมควร พลางตรัสถามว่า
“ข้าแต่พระคุณเจ้าผู้จริญ ความเสื่อม ๔ ประการที่บุคคลบางพวกประสบเข้าแล้ว จึงออกบวช ได้แก่
๑. ความแก่ชรา
๒. ความเจ็บป่วย
๓. ความสิ้นโภคทรัพย์
๔. ความสิ้นญาติพี่น้อง

ก็ความเสื่อมทั้ง ๔ ประการเหล่านี้ ไม่มีแก่ท่านเลย ท่านได้ฟัง ได้รู้ ได้เห็น หรือมีความจำเป็นอย่างไรจึงออกบวช ?”
พระรัฐบาลเถระ ได้ถวายพระพรว่า มหาบพิตร อาตมาได้ฟังธรรมมุทเทศ ๔ ประการ จากพระบรมศาสดาจึงออกบวช ธรรมุทเทศ ๔ ประการนั้น คือ
๑. โลกคือหมู่สัตว์ อันชราเป็นผู้นำ นำเข้าไปใกล้ไม่ยั่งยืน
๒. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีผู้ป้องกัน ไม่เป็นใหญ่เฉพาะตน
๓. โลกคือหมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของตน จำต้องละสิ่งทั้งปวงไป
๔. โลกคือหมู่สัตว์ พร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสแห่งตัณหา

พระเจ้าโกรัพยะ ได้สดับพระธรรมเทศนาชื่อธรรมุทเทศของพระบรมศาสนาที่ พระรัฐบาลแสดงให้พระองค์สดับแล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใส จึงตรัสสรรเสริญว่า “พระธรรมเทศนานี่น่าอัศจรรย์” และตรัสอนุโมทนาแล้วเสด็จกลับสู่พระราชนิเวศน์

* ได้รับยกย่องในตำแหน่งเอตทัคคะ
พระรัฐบาล นั้น นับว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่บวชด้วยศรัทธาอย่างจริงใจ ถึงกับบอกแก่บิดามารดาว่า “ขอยอมตายถ้าไม่ได้บวช” จนกระทั่งบิดามารดาต้องยินยอม เพราะเหตุนี้ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้บวชศรัทธา

ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยเหลือกิจการพระศาสนาควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ