พระโสภิตะ เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมืองสาวัตถี ชื่อบิดามารดาของท่านไม่ปรากฏ เมื่อท่านเจริญเติบโตขึ้นได้ศึกษาศิลปะวิทยา คือ วิชาไตรเพทตามลัทธิพราหมณ์ ต่อมาท่านได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่พระเชตะวันมหาวิหาร ได้ฟังพระธรรมเทศนาแล้วเกิดศรัทธาเลื่อมใสกราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย ครั้นได้อุปสมบทแล้วศึกษาพระกรรมฐาน บำเพ็ญสมณธรรมเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ไม่นานนักก็สำเร็จพระอรหัตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ประการ กล่าวคือ
๑. อัตถปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในอรรถ (ผล)
๒. ธัมมปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในธรรม (เหตุ)
๓. นิรุตติปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในนิรุต (นิรุตติ คือ ภาษที่จะพูดให้คนอื่นเข้าใจ)
๔. ปฏิภาณปฏิสัมภิทา ปัญญาอันแตกฉานในปฏิภาณ (ปฏิภาณ คือ การโต้ตอบ)
นอกจากนี้ท่านยังมีปกติสั่งสมวสี ๕ ประการ คือความชำนาญแคล่วคลองใน ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ได้แก่ ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติในอดีตได้ วสี ๕ ประการ คือ
๑. อาวัชชนวสี ความชำนาญในการนึก
๒. สมาปัชชนวสี ความชำนาญในการเข้า
๓. อธิษฐานวสี ความชำนาญในการหยุด
๔. วุฏฐานวสี ความชำนาญในการออก
๕. ปัจจเวกขณวสี ความชำนาญในการพิจารณา
* ได้รับยกย่องในทางระลึกบุพเพนิวาสานุสสติ
ด้วยความชำนาญแคล่วคล่องดังกล่าวนี้ ครั้งหนึ่งท่านนั่งพิจารณาการระลึกชาติในอดีต ของท่านเองได้มากมายหลายแสนชาติแล้วเกิดปีติโสมนัส ขึ้นว่า “เราเป็นผู้มีสิตปัญญาระลึกชาติในอดีตได้ถึง ๕๐๐ กัป อย่างรวดเร็ว เหมือนนึกถึงเรื่องที่เกิดขึ้นในคืนเดียว ทั้งนี้ก็เพราะเรา เจริญสติปัฎฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗ และมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง”
นับว่าท่านเป็นพระขีณาสพผู้ประเสริฐ เลิศด้วยความรู้ความสามารถ พระบรมศาสดา จึงทรงยกย่องท่านว่าเป็นผู้มีความสามารถในการระลึกชาติได้ เสมอกับพระองค์ และทรงแต่งตั้งท่านในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง ระลึกปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระพุทธศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
No comments:
Post a Comment