พระนันทาเถรี เป็นธิดาของพระเจ้าสุทโธทนะกับพระนางมหาปชาบดีโคตมี เป็นกนิษฐภคินีของเจ้าชายนันทะ พระนามเดิมว่า “นันทา” แต่เพราะนางมีพระสิริโฉมงดงามยิ่งนัก น่าทัศนา น่ารัก น่าเลื่อมใส พระประยูรญาติจึงพากันเรียกว่า “รูปนันทา” บ้าง “อภิรูปนันทา” บ้าง “ชนปทกัลยาณี” บ้าง
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้นับเนื่องเป็นพระเชษฐาของนาง เสด็จออกบรรพชา ได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าแล้ว เสด็จมาโปรดพระประยุรญาติ ณ พระนครกบิลพัสดุ์ เทศนาสั่งสอน ให้ได้บรรลุมรรคผลตามวาสนาบารมี ทรงนำพาศากยกุมารทั้งหลายมีพระนันทะ พระราหุล และพระภัททิยะ เป็นต้น ออกบรรพชา
ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะมหาราชพุทธบิดา เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตรมีพระมารดา และพระนางยโสธราพิมพาพระมารดาของพระราหุล ต่างก็พาสากิยกุมารีออกบวชในพระพุทธศาสนาด้วยกันทั้งสิ้น นางจึงมีพระดำรัสว่า “เหลือแต่เราเพียงผู้เดียว ประหนึ่งไร้ญาติขาดมิตร จะมีประโยชน์อะไรกับการดำรงชีวิตในฆราวาสวิสัย สมควรที่เราจะไปบวชตามพระประยูรญาติผู้ใหญ่ของเราจะประเสริฐกว่า”
* เพราะรักญาติจึงออกบวช
เมื่อพระนางมีพระดำริดังนี้แล้ว จึงจัดเตรียมผ้ากาสาวพัสตร์ เสด็จไปสู่สำนัก พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี กราบแทบเท้ากล่าวขอบรรพชาอุปสมบทพระเถรี ก็โปรดให้บรรพชาตามปรารถนา แต่การบวชของพระนางนันทานั้นมิใช่บวชด้วยความศรัทธา แต่อาศัยความรักในหมู่ญาติจึงออกบวช
ครั้นบวชแล้ว พระรูปนันทาเถรีได้กราบว่า พระพุทธองค์ทรงตำหนิติเตียนเรื่องรูปกาย จึงไม่กล้าไปเฝ้าพระศาสดา เพื่อรับพระโอวาท เมื่อถึงวาระที่ตนจะต้องไปรับโอวาทก็สั่งให้ภิกษุณีรูปอื่นไปรับแทน พระบรมศาสดาทรงทราบว่าพระนางหลงมัวเมาในพระสิริโฉมของตนเอง จึงตรัสรับสั่งว่า
“ต่อแต่นี้ ภิกษุณีทั้งหลาย ต้องมารับโอวาทด้วยตนเอง จะส่งภิกษุณีรูปอื่นมารับแทนไม่ได้”
ตั้งแต่นั้น พระรูปนันทาเถรี ไม่มีทางอื่นที่จะหลีกเลี่ยงไปได้ จึงจำเป็นและจำใจไปรับประโอวาท ทั้ง ๆ ที่ไม่ปรารถนา ไปเฝ้าพระบรมศาสดาพร้อมกับภิกษุณีทั้งหลาย แต่มิกล้าแม้กระทั่งจะนั่งอยู่แถวหน้า จึงนั่งหลบอยู่ด้านหลัง พระพุทธองค์ ทรงเนรมิตรูปหญิงสาววัยรุ่นคนหนึ่งให้มีรูปสิริโฉมสวยงามสุดที่จะหาหญิงใดในปฐพีมาเปรียบได้ ให้หญิงนั้นดูประหนึ่งว่าถือพัดวีชนีถวายงานพัดอยู่เบื้องหลังของพระพุทธองค์ และให้สามารถมองเห็นเฉพาะพระพุทธองค์กับพระรูปนันทาเถรีเท่านั้น
พระรูปนันทาเถรี ได้เห็นหญิงรูปเนรมิตนั้นแล้วก็คิดว่า เราหลงผิดคิดมัวเมาอยู่ในรูปโฉมของตนเองโดยใช่เหตุ จึงมิกล้ามาเฝ้าพระพุทธองค์ หญิงคนนี้มีความสนิมสนมอยู่ในสำนักพระบรมศาสดา รูปโฉมของเรานั้นเทียบไม่ได้ส่วนเสี้ยวที่ ๑๖ ของหญิงนี้เลย ดูนางช่างงามยิ่งนัก ผมก็สวย หน้าผากก็สวย หน้าตาก็สวย ทุกสิ่งทุกอย่างช่างสวยงามพร้อมทั้งหมด
* พอเบื่อหน่อยก็ได้สำเร็จ
เมื่อพระรูปนันทาเถรี กำลังเพลิดเพลินชื่นชมโฉมของรูปหญิงเนรมิตอยู่นั้น พระพุทธองค์ทรงอธิษฐานให้รูปหญิงนั้นปรากฏอยู่ในวัยต่าง ๆ ตั้งแต่เป็นหญิงวัยรุ่น เป็นหญิงสาววัยมีลูก หนึ่งคน มีลูก ๒ คน จนถึงวัยกลางคน วัยชราและวัยแก่หง่อม ผมหงอก ฟันหัก หลังค่อม และล้มตายลงในขณะนั้น ร่างกายมีหมู่หนอนมาชอนไชเจาะกินเหลือแต่โครงกระดูก พระพุทธองค์ทรงทราบว่าพระรูปนันทาเถรี เกิดความสังเวชสลดจิตเบื่อหน่ายในรูปกายที่ตนยึดถือแล้วจึงตรัสว่า
“ดูก่อนนันทา เธอจงดูอัตภาพร่างกายอันเป็นเมืองแห่งกระดูกนี้ (อฏฺฐีนํนครํ) อันกระสับกระส่าย ไม่สะอาด อันบูดเน่านี้เถิด เธอจงอบรมจิตให้แน่วแน่มั่นคง มีอารมณ์เดียวใน อสุภกรรมฐาน จงถอนมานะละทิฏฐิให้ได้แล้วจิตใจของเธอก็จะสงบ จงดูว่ารูปนี้เป็นฉันใด รูปของเธอก็เป็นฉันนั้น รูปของเธอเป็นฉันใดรูปนี้ก็เป็นฉันนั้น รูปอันมีกลิ่นเหม็นบูดเน่านี้ ย่อมเป็นที่เพลิดเพลินอย่างยิ่งของผู้โง่เขลาทั้งหลาย”
พระรูปนันทาเถรี ส่งกระแสจิตไปตามพระพุทธดำรัส เมื่อจบลงก็สิ้นกิเลสาสวะ บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอเสขบุคคลในพระพุทธศาสนา ปรากฏว่าเมื่อพระนางสำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้วเป็นผู้มีความชำนาญพิเศษในการเพ่งด้วยฌานด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องเธอไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้แพ่งด้วยฌาน หรือ ผู้ทรงฌาน
* ฌาน การเพ่งอารมณ์จนใจแน่วแน่เป็นอัปปนาสมาธิ มี ๔ คือ
๑. ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔. จตุถฌาน ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
No comments:
Post a Comment