นางขุชชุตตรา เป็นลูกสาวของหญิงแม่นมในเรือนโฆสกเศรษฐี ในกรุงโกสัมพี เป็นหญิงพิการหลังค่อม ต่อมาเมื่อโฆสกเศรษฐีได้ยกนางสามาวดีผู้เป็นหญิงกำพร้าให้อยู่ในฐานะ เป็นธิดาของตนแล้ว ได้มอบหญิง ๕๐๐ คน ให้เป็นบริวารของนางอีกด้วย และนางขุชชุตตราก็ได้เป็นบริวารของนางด้วยเช่นกันเมื่อนางสามาวดีได้รับการอภิเษกเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งเมืองโกสัมพี หญิงบริวารทั้งหมดก็ติดตามเข้าไปรับใช้นางในพระราชนิเวศน์ด้วย และพระเจ้าอุเทนได้พระราชทานทรัพย์ ๘ กหาปณะ แก่นางขุชชุตตรา เพื่อจัดซื้อดอกไม้ให้แก่นางสามาวดีทุกวัน
* โฆสกเศรษฐีสร้างวัดถวาย
ในกรุงโกสัมพีนั้นมีเศรษฐี ๓ คน คือ โฆสกเศรษฐี กุกกุฎเศรษฐี และ ปาวาริกเศรษฐี ทั้ง ๓ ท่านนี้เป็นสหายกันต่างก็มีศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาได้ฟังพระธรรมเทศนาจนได้บรรลุเป็นพระโสดาบันด้วยกัน และได้สร้างวัดขึ้นท่านละหนึ่งวัด โดยของ โฆสกเศรษฐีชื่อว่า โฆสิตาราม ของกุกกุฏเศรษฐี ชื่อว่า กุกกฏาราม และของปาวาริกเศรษฐีชื่อว่า ปาวาริการามเศรษฐีทั้ง ๓ ท่านนี้มีคนรับใช้ชื่อนายสุมนะเป็นผู้จัดการตกแต่งสวนดอกไม้ เนื่องจากเขามีความฉลาดความสามารถในด้านนี้ จึงได้ชื่อว่า “สุมนมาลาการ” แม้ นางขุชชุตตราก็มาซื้อดอกไม้จากนายสุมนะนี้ทุกวัน
* นางขุชชุตตราบรรลุโสดาบัน
ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จมายังเมืองโกสัมพี โดยมีพระอานนท์เถระ เป็นปัจฉาสมณะตามเสด็จมาด้วย พระพุทธองค์ประทับ ณ อารามของเศรษฐีทั้ง ๓ ท่านและเสด็จเข้าไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของเศรษฐีทั้ง ๓ ท่านนั้นโดยผลัดเปลี่ยนไปตามวาระ ตามที่ท่านเศรษฐีได้กราบทูลอาราธนา
วันหนึ่ง นายสุมนะขอโอกาสแก่ท่านเศรษฐีเพื่อกราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน เมื่อเศรษฐีอนุญาตให้สมประสงค์แล้ว จึงจัดการตกแต่งเสนาสนะและภัตตาหาร ขณะที่เขากำลังจัดเตรียมการอยู่นั้น นางขุชชุตตราก็มาถึง นายสุมนะ กล่าวกับเธอว่า “วันนี้ขอให้รออยู่ก่อน เพราะตนได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดามาเสวยภัตตาหารที่บ้าน และขอให้นางช่วยเหลือในการจัดภัตตาหารด้วย เมื่อเสร็จแล้วจึงค่อยรับดอกไม้ไป” ซึ่งนางขุชชุตตรา ก็ตอบรับด้วยความยินดี
เมื่อเสร็จภัตกิจแล้ว พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนาอนุโมทนานางขุชชุตตรา ก็ได้มีโอกาสฟังธรรมเทศนานี้ด้วย นางส่งกระแสจิตไปตามพระธรรมเทศนา เมื่อจบลงก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล
ตามปกติในวันอื่น ๆ ที่แล้วมา นางขุชชุตตรา จะซื้อดอกไม้เพียง ๔ กหาปณะ และเก็บเอาไว้เอง ๔ กหาปณะ แต่วันนี้นางซื้อดอกไม้ทั้ง ๘ กหาปณะ นางสามาวดีเห็นว่าวันนี้ได้ดอกไม้มากกว่าทุก ๆ วัน จึงถามนางขุชชุตตรา ขึ้นว่า
“ทำไมวันนี้จึงได้ดอกไม้มากกว่าปกติ”
นางขุชชุตตรา ได้บอกตามความเป็นจริงว่า “เมื่อก่อนนั้นได้ยักยอกเงินไว้เพื่อตนเองครึ่งหนึ่ง แต่วันนี้หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาจนบรรลุอมตธรรมแล้ว เห็นว่า การกระทำอย่างนั้นไม่ควร จึงได้ซื้อดอกไม้ทั้ง ๘ กหาปณะ”
* เป็นอาจารย์สอนธรรม
นางสามาวดี เมื่อทราบความโดยตลอดแล้วก็มิได้ว่ากล่าวติเตียนต่อนางขุชชุตตรา แต่ประการใด กลับขอให้นางได้แสดงธรรมที่ได้ฟังมาจากพระบรมศาสดาให้ตนและบริวารอื่น ๆได้ฟังบ้าง ซึ่งนางขุชชุตตรา ก็ตอบรับด้วยความยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ขอโอกาสอาบน้ำชำระร่างกายและประดับตกแต่งร่างกายพอสมควรแก่ฐานะแล้วนั่งบนอาสนะที่สูงกว่าหญิงทั้งปวง แสดงธรรมไปโดยลำดับตามที่ตนได้ฟังมาจากพระบรมศาสดา เมื่อจบลงแล้ว หญิงเหล่านั้นทั้งหมด มีนางสามาวดีเป็นหัวหน้า ก็ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันพร้อม ๆ กัน
หลังจากนั้น นางขุชชุตตราได้รับการยกฐานะจากการเป็นทาสีคอยรับใช้นางสามาวดี ให้ดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ ของนางสามาวดีและหญิงบริวารเหล่านั้น มีหน้าที่ไปรับฟัง พระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาแล้วนำมาแสดงให้นางสามาวดีกับบริวารฟัง นางขุชชุตตรา กระทำดังนั้นจนนางเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก
* บุพกรรมล้อเลียนพระ
สมัยหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายกราบทูลถามพระบรมศาสดาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตราจึงเป็นหญิงหลังค่อมพระเจ้าข้า ?”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติ พระปัจเจกพุทธเจ้าองค์หนึ่งเป็นผู้มีสภาพร่างกายเป็นคนค่อมนิดหน่อยมาฉันภัตตาหารในราชสำนักเป็นประจำ นางกุมาริกานางหนึ่งแสดงอาการเป็นคนค่อมล้อเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยความคึกคะนองต่อหน้าเพื่อนกุมาริกาทั้งหลาย เพราะกรรมนั้น จึงส่งผลให้เธอเป็นคนค่อมในอัตภาพนี้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตรา จึงเป็นนางทาสีของบุคคลอื่นพระเจ้าข้า ?”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลายในอดีตครั้งที่พระพุทธเจ้านามว่ากัสสปะ นางได้เกิดในตระกูลเศรษฐีในเมืองพาราณสี มีภิกษุณีผู้เป้นพระอรหันต์รูปหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคยกับตระกูลของนางมาเยี่ยมเยือนที่บ้าน ขณะนั้นนางกำลังแต่งตัวอยู่ ได้ออกปากขอให้พระเถรีช่วยหยิบกระเช้าเครื่องประดับส่งให้ พระเถรีนั้นคิดว่า “ถ้าเราไม่หยิบส่งให้ นางก็จักโกรธอาฆาตเรา เพราะกรรมนี้เมื่อนางตายไปแล้ว ก็จะไป เกิดในนรก แต่ถ้าเราหยิบส่งให้ นางก็จักเกิดเป็นหญิงรับใช้คนอื่น เพราะกรรมที่ใช้พระอรหันต์
นางภิกษุณีจึงเลือกกรรมสถานเบาเพื่อเป็นการอนุเคราะห์ต่อนาง จึงได้หยิบกระเช้าส่งให้ เพราะกรรมนี้นางจึงเกิดเป็นหญิงรับใช้บุคคลอื่น”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะกรรมอะไร นางขุชชุตตราจึงมีปัญญามากและบรรลุพระโสดาปัตติผล ?”
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในอดีตชาติครั้งเดียวกันนั้น พระราชาได้ถวายข้าวปายาสที่ยังร้อนอยู่ลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า นางเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต้องเปลี่ยนมือถือบาตรกลับไปกลับมาด้วยความร้อน นางจึงถอดกำไลที่ทำด้วยงาจากข้อมือ ๘ อัน ถวายให้พระปัจเจกพุทธเจ้า ใช้สำหรับรองมือกันความร้อนด้วยผลแห่งกรรมที่นางถวายกำไลข้อมือ และกรรมที่ช่วยบำรุง อุปัฏฐากพระปัจเจกพุทธเจ้าครั้งนั้น ทำให้นางมีปัญญามาก และได้บรรลุพระโสดาปัตติผล”
เพราะความที่นางขุชชุตตราเป็นผู้มีปัญญามาก สามารถแสดงธรรมได้อย่างไรไพเราะลึกซึ้งดีกว่าอุบาสิกาคนอื่น ๆ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องนางในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่า อุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้แสดงธรรม
No comments:
Post a Comment