พระสุภูติ เกิดในวรรณแพศย์ เป็นบุตรของสุมนเศรษฐีผู้เป็นน้องชายของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ในนครสาวัตถี ท่านเป็นผู้มีลักษณะดี ผิวพรรณผ่องใสสะอาด สวยงาม จึงได้นามว่า “สุภูติ” ซึ่งถือว่าเป็นมงคลนาม มีความหมายว่า “ผู้เกิดดีแล้ว”
* ออกบวชคราวฉลองพระเชตวัน
เหตุการณ์ที่ชักนำให้ท่านได้เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ก็เนื่องมาจากอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้เป็นลุง ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ขณะประทับอยู่ ณ ป่าสีตวัน เมื่องราชคฤห์ และได้ฟังพระธรรมเทศนา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วกราบทูลอาราธนาพระผู้มีพระภาค เพื่อเสด็จกรุงสาวัตถี เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว รีบเดินทางกลับมาสู่กรุงสาวัตถี ได้จัดซื้อที่ดินอันเป็นราชอุทยานของเจ้าชายเชตราชกุมาร ด้วยวิธีนำเงินมาวางเรียงให้เต็มพื้นที่ ตามที่ต้องการ ปรากฏว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ต้องใช้เงินถึง ๒๗ โกฏิ จึงได้พื้นที่พอแก่ความต้องการ จำนวน ๑๘ กรีส (๑ กรีส = ๑๒๕ ศอก) และใช้เงินอีก ๒๗ โกฏิ สร้างพระคันธกุฎีที่ประทับสำหรับพระผู้มีพระภาค และเสนาสนะสำหรับพระสงฆ์สาวก แต่ยังขาดพื้นที่สร้างซุ้ม ประตูพระอาราม เจ้าชายเชตราชกุมารจึงขอมอบพื้นที่และจัดสร้างให้ โดยขอให้จารึกพระนามของพระองค์ไว้ที่ซุ้มประตูพระอารามนั้น “เชตวัน” ดังนั้น พระอารามนี้จึงได้นามว่า
“พระเชตะวันมหาวิหาร”
ในวันที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี จัดการฉลองพระวิหารเชตะวันนั้นได้กราบอาราธนา พระผู้มีพระภาคพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มาเสวยและฉันภัตตาหารสุภูติกุฎุมพี ผู้เป็นหลาน ได้ติดตามไปร่วมพิธีช่วยงานนี้ด้วย ครั้นได้เห็นพระฉัพพรรณรังสี ที่เปล่งออกจากพระวรกายของพระบรมศาสดา สวยงามเรืองรองไปทั่วบริเวณ ทำให้เกิดศรัทธาเลื่อมใส เมื่อการถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์โดยมีพระพุทธองค์เป็นประมุขเสด็จเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมกถาอนุโมทนาทาน สุภูติกุฎุมพี ได้ฟังแล้วยิ่งเกิดศรัทธามากขึ้น จึงกราบทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัย
ครั้นได้อุปสมบทสมความปรารถนาแล้ว ได้ศึกษาพระวินัยปิฎกและพระอภิธรรมปิฎกกจนเชี่ยวชาญ จากนั้นได้เรียนพระกรรมฐานจากพระบรมศาสดาแล้วหลีกออกไปบำเพ็ญสมณธรรม เจริญวิปัสสสนากรรมฐานอยู่ในป่า ไม่นานนักก็ได้บรรลุพระอรหัตผล สิ้นกิเลสอาสวะ เป็นพระอริยบุคคล ชั้นสูงสุดในพระพุทธศาสนา
* พักกลางแจ้งฝนจึงแห้งแล้ง
พระสุภูติเถระ โดยปกติแล้วมักจะเข้าฌานสมาบัติ เพื่อแสวงงหาความสุขอันเกิดจากการ สิ้นกิเลส ท่านประกอบด้วยคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ
๑. อรณวิหารธรรม คือ เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา หรือเป็นอยู่อย่างไม่มีข้าศึก
๒. ทักขิเณยยบุคคล คือ เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน
เพราะท่านมีปฏิปทานำมาซึ่งความเลื่อมใสแก่ผู้พบเห็น อันเป็นการช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาทางหนึ่ง แม้แต่พระเจ้าพิมพิสาร เมื่อได้ทรงทราบว่า ท่านเป็นผู้มีปกติเข้าฌานที่ประกอบด้วยเมตตาเป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่ในขณะบิณฑบาตก็ยังแผ่เมตตาให้แก่ผู้ถวายอาหารบิณฑบาตอย่างทั่วถึง ครั้นเมื่อพระเถระจาริกมาถึงแคว้นมคธ พระเจ้าพิมพิสาร จึงได้อาราธนาให้ท่านจำพรรษาที่แคว้นมคธและท่านก็รับอาราธนาตามนั้น
แต่เนื่องจากพระเจ้าพิมพิสาร ทรงมีพระราชกิจมาก จึงลืมรับสั่งให้จัดเสนาสนะสถานที่พักถวายท่าน ดังนั้น เมื่อท่านมาถึงแล้วจึงไม่มีที่พัก ท่านจึงต้องพักกลางแจ้ง ด้วยอำนาจแห่งคุณของท่าน จึงทำให้ดินฟ้าอากาศปรวนแปร ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ชาวไร่ชาวนาปลูกพืชผลไม่ได้ผลผลิต ต้องเดือดร้อนไปทั่ว ความทราบถึงพระเจ้าพิมพิสาร ทรงใคร่ครวญทบทวนแล้วทราบชัดว่า เพราะพระเถระจำพรรษากลางแจ้ง จึงเป็นเหตุให้ฝนแล้งไปทั่ว ดังนั้น จึงทรงรีบแก้ไขด้วยการรับสั่งให้สร้างกุฎีถวายท่านโดยด่วน เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงได้อาราธนาท่านให้เข้าพักอาศัยอยู่จำพรรษาในกุฎีนั้น จากนั้นฝนก็ตกลงมาชาวประชาก็พากันดีใจ ปลูกพืช ผัก ผลไม้ ก็ได้ผลผลิตดี ตามต้องการ ความทุกข์ความเดือดร้อนก็หายไป
ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกย่องท่าน ในตำแหน่งเอตทัคตะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทาง อรณวิหาร (เจริญฌานประกอบด้วยเมตตา) และ ทักขิเณยยบุคคล (เป็นผู้ควรรับทักษิณาทาน)
ท่านดำรงอายุสังขาร ช่วยกิจการพระศาสนาสมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
No comments:
Post a Comment