2009-01-31
ตำนานพระปริตร : รัตนสูตร
ตำนานพระปริตร : รัตนสูตร
บทขัดรัตนสูตร
หมู่เทวดาในแสนโกฏิจักรวาล ยอมรับเอาซึ่งความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระปริตรใด พระปริตรหนึ่ง พระปริตรใดยังภัยทั้ง ๓ คือ โรคภัย อมนุษย์ภัย ทุพภิกขภัย ในเมืองเวสาลี ให้อันตรธานไปเร็วพลัน
ท่านทั้งหลาย จงตั้งจิตการุญ สวดพระปริตรนั้น ดุจดังท่านพระอานนท์เถระเจ้า หวนคำนึง นึกหน่วงถึงพระพุทธคุณทั้งปวงของพระตถาคตเจ้า จำเดิมแต่ปรารถนา พุทธภูมิมา คือการบำเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ อุปบารมี ๑๐ ปรมัตถบารมี ๑๐ มหาบริจาค ๕ จริยา ๓ แล้วเสด็จลงสู่คัพโภทรภพสุดท้าย ทรงประสูติ เสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์ ทรงบำเพ็ญความเพียร ณ โพธิบัลลังก์ ทรงตรัสรู้ พระอนุตรสัมมาสัมโพธิ์ญาณ และโลกุตตรธรรม ๙ เหล่านี้ แล้วทรงกระทำ ปริตรตลอดราตรี ทั้ง ๓ ยาม ภายในกำแพง ๓ ชั้น ณ เมืองเวสาลี ฉะนี้เทอญ
บทตำนานรัตนสูตร
ครั้งหนึ่ง ณ พระนครไพสาลี อันไพบูลย์ไปด้วยขัตติยะตระกูล มีพระยาลิจฉวีเป็นประธาน ได้บังเกิดทุพภิกขภัย ข้าวแพงฝนแล้ง พืชพันธุ์ธัญชาติ ปลูกเท่าไหร่ก็ตายหมด หมู่คนยากจนทั้งหลาย พากันอดยาก ล้มตายลงเป็นอันมาก หมู่ญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็พากันเอาศพไปทิ้งไว้นอกพระนคร กลิ่นซากศพนั้น เหม็นตลอดไปทั่วพระนคร
กาลนั้น หมู่อมนุษย์ทั้งหลาย ก็เข้ามากินซากศพ แล้วตรงเข้าไปสู่พระนคร เป็นเหตุให้ชนผู้คนในพระนคร ติดอหิวาตกโรค และโรคนานา จนผู้คนล้มตายลงเป็นอันมาก สืบเนื่องมาจากบ้านเมืองสกปรก ปฏิกูลไปด้วย เฬวรากซากศพ จากคนและสัตว์
ขณะนั้นกล่าวได้ว่า นครไพสาลี มีภัยเกิดขึ้น ๓ ประการ คือ
๑. ทุพภิกขภัย ข้าวแพง มนุษย์ล้มตายลงเพราะอดอาหาร
๒. อมนุษย์ภัยเบียดเบียน ตายด้วยภัยของอมนุษย์
๓. โรคภัย ผู้คนล้มตายด้วยโรคภัยต่าง ๆ มีอหิวาตกโรค เป็นต้น
ขณะนั้น ผู้คนในพระนคร ต่างได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า จึงชวนกันเข้าไปเฝ้า สภากษัตริย์ลิจฉวี แล้วทูลว่า แต่ก่อนแต่ไรมา ภัยอย่างนี้มิได้เคยมี เหตุไรจึงมาเกิดภัยเช่นนี้ หรือว่า จะมาจากเหตุ ราชะสภามิได้ตั้งอยู่ในธรรม หรือว่าผู้คนมหาชนทั้งหลาย ในไพสาลีนคร หมกมุ่นมัวเมาประมาทขาดสติ มิมีธรรมะ หรือว่า จะมาจากเหตุ นักบวช สมณะ สงฆ์ มิได้ทรงศีลสิกขา จึงเป็นเหตุให้เกิดกาลกิณี แก่ปวงประชา
ฝ่ายสภากษัตริย์ หมู่เจ้าลิจฉวีทั้งหลาย ก็มิอาจจับต้นชนปลาย หรือจะรู้สาเหตุก็หาไม่ ต่างฝ่ายต่างมองหน้ากันไปมา ได้แต่ทำตาลอกแลกแล้วส่ายหน้า จนมีท้าวพระยาลิจฉวี พระองค์หนึ่ง ลุกขึ้นตรัสว่า เห็นทีภัยร้ายครั้งนี้ใหญ่หลวงนัก มิอาจจะระงับได้ด้วย กำลังทหาร กำลังทรัพย์ หรือกำลังปัญญา คงต้องอาศัยกำลังของพระโพธิบวร แห่งองค์สมเด็จพระชินศรีศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จมาโปรด ชาวไพสาลีให้พ้นภัยพิบัติครั้งนี้คงจะได้ ในที่สุดประชุมราชะสภา ต่างเห็นพ้องต้องกัน จึงมอบให้พระยาลิจฉวี ๒ พระองค์พร้อมไพร่พลนำเครื่องบรรณาการ ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร ทูลขอให้พระองค์ทรงอนุญาต ให้เชิญเสด็จ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามายังนครไพสาลี
กล่าวฝ่ายพระราชาพิมพิสาร เมื่อได้ทรงทราบถึงความทุกข์ร้อนของชาวนครไพสาลี และวัตถุประสงค์ของพระยาลิจฉวี จึงทรงอนุญาตชาวนครไพสาลีไปทูลอาราธนา องค์สมเด็จพระบรมศาสดา ตามประสงค์
องค์พระผู้มีพระภาค พร้อมภิกษุบริษัทอีก ๕๐๐ รูป ได้เสด็จพระดำเนิน ไปสู่นครไพสารี ในเวลาที่เสด็จนั้น พระราชาลิจฉวี หมู่มุขมนตรี ชาวพระนคร องค์อินทรเทวะพรหมินทร์ทั้งหลาย ได้พากันเฝ้ารับเสด็จระหว่างทาง ด้วยการโปรยทราย ดอกไม้ของหอม พร้อมยกฉัตรกางกั้น แสงพระสุริยะฉาย จัดตั้งราชวัตรฉัตรธง จตุรงค์เสนาขุนทหารทั้งหลาย ต่างพากัน ยืนแถวถวายพระเกียรตินานาประการ
ในขณะเดินทาง ทรงหยุดพักระหว่างทางวิถี พระราชาและหมู่ชนต่างพากันจัดสรรสรรพผลาหารอันเลิศ ประเสริฐรส นำมาถวายแด่พระบรมศาสดาและหมู่สงฆ์
ครั้นเสด็จพระดำเนินมาถึง ริมฝั่งคงคา พระยานาคราช ผู้สถิตอยู่ในแม่น้ำคงคา ก็ขึ้นมาถวายเครื่องสักการะ แล้วเนรมิตวงกายให้เป็นเรือใหญ่ แล้วทูลอาราธนาองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ขึ้นประทับบนรัตนบัลลังก์ ที่เนรมิตถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ ส่วนหมู่มนุษย์พระยาลิจฉวี และชาวพระนคร ก็ให้ขึ้นเรือแพ ที่จัดเตรียมมา แล้วเรือนาคา ก็บ่ายหน้าแล่นตรงไป ยังนครไพสาลี สิ้นระยะทาง ๘ โยชน์ กินเวลา ๘ วัน ระหว่างทางองค์นาคราช และบริวารได้ถวายอภิบาลพระบรมศาสดา และหมู่สงฆ์ มิให้สะดุ้ง สะเทือนระหว่างทาง ไม่ว่าคลื่นจะซัด ลมจะพัด น้ำจะแรง เรือนาคราชนั้นก็บรรเทาผ่อนแรง บดบังลมแดดแรงเป็นอันดี ประดุจดัง ทางประทับ อยู่บนยอดขุนเขาคีรีษี มิได้มีหวั่นไหวฉะนั้น
ครั้นเมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาค เสด็จพระดำเนินถึงเขตนครไพสาลี เมฆฝนก็ตั้งเค้า ลมทั้งหลายก็พัดหอบเอาเมฆมารวมไว้บนท้องฟ้า เหนือนครไพสาลี ครั้นสมเด็จพระชินศรี ทรงย่างพระบาทเหยียบยืนบนแผ่นดินไพสาลี เม็ดฝนก็ตกลงมาในทันที
องค์สมเด็จพระชินศรี เมื่อเสด็จประทับภายในพระนครไพสาลี เป็นอันดีแล้ว ฝนที่มิได้เคยตกมาเจ็ดปี ก็พลูไหลริน จนท่วมภาคพื้นปฐพี กระแสน้ำได้พัดพาเอาซากอสุภ และสิ่งปฏิกูลทั้งปวง ไหลลงไปสู่แม่น้ำคงคาจนหมดสิ้น
ครั้นเม็ดฝนหยดสุดท้ายหมดสิ้น หมู่อมรนิกรเทพพรหมินทร์ และอินทรราช ก็เข้าเฝ้ากราบเบื้องยุคลบาทพระผู้มีพระภาค
ฝ่ายฝูงอมนุษย์ทั้งหลาย ครั้นเห็นหมู่มหาเทพ ได้เสด็จมาเข้าเฝ้าพระผู้พระภาคเจ้า ต่างตนต่างก็เกรงกลัวเดช กลัวจะเกิดอาเพศ จึงพากันหลีกลี้หนีไปเป็นอันมาก
พระผู้มีพระภาค จึงทรงมีพุทธฎีกาตรัสเรียกพระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ เธอจงเรียนมนต์รัตนสูตรนี้ แล้วจงถือเอาเครื่องพลีกรรม เที่ยวไปในระหว่างแห่งกำแพงทั้งสามชั้นของพระนคร แล้วจงสาธยาย มนต์รัตนสูตร เวียนเป็นประทีกษิณให้ครบ ๓ รอบ แล้วนำบาตรของเราตถาคต ใส่น้ำที่สำเร็จด้วยมนต์รัตนสูตร สาดรดไปทั้งพระนคร อมนุษย์ทั้งหลายที่ยังมิได้หนี จักได้พากันหนีไปสิ้น ประชาชนผู้คนในพระนคร จักได้ปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
ครานั้น พระบรมสุคตเจ้า ได้ทรงแสดง รัตนสูตร โปรดหมู่อมรนิกรพรหมินทร์ อินทราธิราชทั้งหลาย กาลเมื่อทรงแสดงธรรมจบสิ้น ความสิริสวัสดิ์พิพัฒน์มงคล ก็บังเกิดแก่ชาวไพสาลีทั้งปวง อุปัททวภัยทั้งหลายก็ระงับสิ้น หมู่มนุษย์และเทพทั้งหลาย มีประมาณแปดหมื่นสี่พัน ได้บังเกิดธรรมจักษุ ต่างพากันรู้ทั่วถึงธรรมนั้น ตามแต่อุปนิสัย วาสนาบารมีธรรมของตนที่สั่งสมมา
เมื่อหมู่อมรเทพนิกร พรหมินทร์ อินทรา เสด็จกลับไปแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ทรงพระกรุณาโปรดแสดงธรรมเทศนา รัตนสูตร โปรดชาวพระนครไพสาลีอยู่อีก ๖ วัน รวมสิ้นเวลาที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ภายในพระนครไพสาลีสิ้นเวลา ๑๕ วัน จึงเสด็จ
ระหว่างทางขณะเสด็จมาถึงริมแม่น้ำคงคา พญานาคาและเหล่าบริวาร ผู้เฝ้ารอคอยเสด็จกลับ ก็ได้เนรมิตกาย ให้เป็นเรือพระที่นั่งถวาย พร้อมภิกษุสงฆ์ทั้ง ๕๐๐
ระหว่างทางได้ทรงแสดงธรรม โปรดพญานาคและบริวาร จนเสด็จถึงกรุงราชคฤห์ หมู่ชนชาวพระนครราชคฤห์พร้อมพระราชาพิมพิสาร ต่างรอคอยถวายเครื่องสักการะต้อนรับ ยิ่งกว่าตอนเสด็จไป
บทสวดรัตนสูตร
จบตำนานรัตนสูตร ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้
ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com
ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com
No comments:
Post a Comment