สูรอัมพัฏฐะ เกิดในตระกูลเศรษฐี บิดามารดามีศรัทธาเลื่อมใสนักบวชอัญเดียรถีย์ ตนเองเมื่อเจริญวัยขึ้นมาอยู่ในฆราวาสวิสัยก็มีใจศรัทธาเลื่อมใสให้การบำรุงอุปัฏฐากอัญเดียรถีย์ตามบิดามารดาด้วยเช่นกัน
* ความคิดมีเหตุผล
ในเวลาใกล้รุ่งสว่างของราตรีหนึ่ง พระบรมศาสดาทรงตรวจดูอุปนิสัยของสัตว์โลกได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุแห่งอุปนิสัยโสดาปัตติมรรคของสูรอัมพัฏฐะ ครั้นรุ่งสางแล้ว จึงทรงถือบาตรเสด็จไปประทับยืนที่ประตูบ้านของเขา เมื่อเขาแลเห็นพระผู้มีพระภาคแล้วคิดว่า “การที่พระสมณโคดมผู้เสด็จอุบัติในตระกูลกษัตริย์ ผู้ยิ่งใหญ่แล้วเสด็จออกบรรพชา โดยมิได้มีความห่วงอาลัยในราชสมบัติ ทรงบำเพ็ญ
เพียรจนได้ตรัสรู้เป็นพระสัพพัญญูเจ้า เที่ยวสั่งสอนมหาชนให้บรรลุมรรคผลตามอำนาจวาสนาบารมี เป็นที่รู้จักเคารพนับถือของชาวโลกทั้งหลาย พระองค์เสด็จมาถึงประตูเรือนของเราแล้ว ถ้าเรานิ่งเฉยอยู่ก็จะเป็นการไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง” เมื่อคิดดังนี้แล้วก็รีบลุกขึ้นไปเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท รับบาตรจากพระหัตถ์ แล้ว กราบทูลอาราธนาให้เสด็จเข้าไปประทับภายในเรือน แล้วถวายภัตตาหารอันประณีตแด่พระพุทธองค์
ครั้นเสด็จภัตกิจแล้ว พระบรมศาสดา ทรงแสดงพระธรรมเทศนาตามอนุรูปแก่อุปนิสัยจริยาของเขา เมื่อจบพระธรรมเทศนาแล้วเขาก็ได้บรรลุโสดาปัตตผล ดำรงอยู่ในอริยภูมิในพระพุทธศาสนา ส่วนพระบรมศาสดาก็เสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร
* มารแปลงร่างเป็นพุทธเจ้า
ขณะนั้น มารตนหนึ่งคิดว่า “สูรอัมพัฏฐะนี้เป็นสมบัติของเรา แต่วันนี้พระสมณโคดมเสด็จมาทำให้เขาดำรงอยู่ในอริยภูมิเสียแล้ว สมควรที่เราจะรู้ว่าเขาพ้นจากวิสัยของเราแล้วหรือยัง จึงเนรมิตรูปร่างให้ละม้ายคล้ายกับพระทศพล พร้อมทั้งทรงบาตรและจีวรมีสีสันฐานดุจเดียวกัน แสดงท่าเสด็จพระราชดำเนินด้วยอากัปกิริยาของพระพุทธองค์ทรงด้วยพระลักษณะ ๓๒ ประการมาประทับยืนที่ประตูบ้านของสูรอัมพัฏฐะ
ฝ่ายสูรอัมพัฏฐะ ได้ทราบว่าพระผู้มีพระภาคเสด็จมาอีกก็คิดว่า “ธรรมดาการเสด็จไปในที่ไหน ๆ แบบไม่แน่นอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้นไม่มีเลย เหตุไฉนหนอ พระพุทธองค์ เพิ่งจะเสด็จกลับไปได้ไม่นาน จึงเสด็จกลับมาประทับยืนดังเดิมอีก” เมื่อคิดดังนี้แล้ว ก็รีบออกไปถวายการต้อนรับกราบถวายบังคมแล้วยืน ณ ที่อันสมควรแก่ตน พลางกราบทูลว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ทรงกระทำภัตกิจในเรื่องของข้าพระองค์แล้ว เพราะเหตุไรพระองค์จึงเสด็จมาอีก พระเจ้าข้า ?”
มารในรูปของพระพุทธองค์กล่าวว่า
“ดูก่อนสุรอัมพัฏฐะ เรากล่าวธรรมแก่ท่านไม่ทันได้พิจารณาโดยได้กล่าวไปว่า ปัญจขันธ์ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา หมายถึงทุกอย่างนั้น แต่ความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นทั้งหมด เพราะว่า ขันธ์บางอย่างบางพวก ที่เป็นของเที่ยง มั่นคง ยั่งยืน ก็มีอยู่”
* มารร้ายพ่ายพระ
สูรอัมพัฏฐะ ได้ฟังดังนั้นแล้วคิดว่า “เรื่องนี้เป็นเรื่องหนักอย่างยิ่ง ด้วยว่าพระพุทธเจ้าทั้งหลายย่อมไม่ตรัสคำที่เป็นสอง” จึงคิดต่อไปอีกว่า “ขึ้นชื่อว่ามารทั้งหลายย่อมเป็นข้าศึกต่อ พระพุทธองค์ ท่านผู้นี้คงจะต้องเป็นมารแน่” จึงกล่าวถามไปตรง ๆ ว่า “ท่านเป็นมารหรือ ?”
ด้วยถ้อยคำของพระอริยสาวกกล่าวเพียงเท่านั้น ประหนึ่งว่าเอาขวานฟันลงบนศีรษะมารนั้น จนไม่สามารถจะดำรงภาวะของตนได้ จึงกล่าวรับว่า “ใช่แล้ว เราเป็นมาร”
สูรอัมพัฏฐะ จึงชี้หน้าว่ากล่าวสำทับไปว่า “แม้มารตั้งร้อยตั้งพัน ก็ไม่สามารถทำศรัทธาของเราให้หวั่นไหวได้ พระพุทธองค์เมื่อทรงแสดงธรรมแก่เราก็ทรงแสดงปลุกเราให้ตื่นจากอวิชชาว่า สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ดังนั้น ท่านจงอย่ามายืนใกล้ประตูเรือนของเรา จงออกไปในบัดนี้”
มารได้ฟังคำของอุบาสกแล้ว ไม่สามารถดำรงอยู่ได้ รีบถอยกรูด ๆ ออกไปโดยไม่พูดจา อันตรธานหายไปจากที่นั้นในทันที
เย็นวันนั้น สูรอัมพัฏฐอุบาสก ได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลเนื้อความให้ทราบโดยตลอดแล้ว พระพุทธองค์ทรงปรารภเหตุนั้น และได้ประกาศยกย่อง สถาปนาสูรอัมพัฏฐอุบาสก ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าอุบาสิกาทั้งหลาย ในฝ่ายผู้ให้ของเจริญจิต คือ ผู้มีศรัทธาไม่หวั่นไหว
No comments:
Post a Comment