พระภัททกาปิลานีเถรี เป็นธิดาของเศรษฐีชื่อโกสิยพราหมณ์ ในนครสาคลนคร มารดาชื่อสุจิบดี เมื่อเจริญวัยขึ้นมาได้ทำอาวาหมงคลเป็นภรรยาของปิปผลิมานพ ตระกูลสัสสปะ เรียกชื่อตามตระกูลว่า “กัสสปะ” นับว่าเป็นสามีภรรยาที่แปลกเพราะทั้งคู่ไม่ยินดีในการถูกเนื้อ ต้องตัวกัน แม้จะนอนบนเตียงเดียวกันแต่ก็ขึ้นคนละข้าง และมีแจกันดอกไม้กั้นตรงกลาง อยู่ครองคู่กันจนบิดามารดาของทั้งส่องฝ่ายถึงแก่กรรม ทรัพย์สมบัติทั้งหลายจึงตกอยู่ในปกครองดูแลรับผิดชอบของคนทั้งสอง
* ไม่ทำบาปแต่ต้องคอยรับบาป
เนื่องด้วยตระกูลทั้งสองนั้น เป็นตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์มาก เมื่อรวมเป็นตระกูลเดียวกันก็ยิ่งมากมายมหาศาล มีสัตว์เลี้ยง และคนงานจำนวนมาก ทั้งสองสามีภรรยาต้องบริหารสั่งการทุกอย่าง วันหนึ่ง ขณะที่กัสสปะผู้สามีออกไปตรวจดูการทำไร่ไถนาอยู่นั้น เห็นนกกาจิกกินสัตว์เล็กสัตว์น้อยแล้วรู้สึกสลดใจที่ตนเองจะต้องคอยรับบาปกรรมที่คนอื่นทำ แม้นางภัททกาปิลานี ใช้ให้ทาสและกรรมกรนำเมล็ดถั่วเมล็ดงามาตากที่ลานหน้าบ้าน เห็นนกกามาจิกกินตัวหนอนก็เกิดสลดใจเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อสองสามีภรรยาอยู่กันพร้อมหน้าจึงปรึกษากันแล้วมีความเห็นตรงกันว่าไม่ควรจะมานั่งคอยรับบาปกรรมที่คนอื่นกระทำเพื่อตนเลย จึงพร้อมใจกันมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดให้แน่หมู่ญาติและทาสกรรมกรแบ่งกันไปดูแลส่วนตนทั้งสองได้ปลงผมแล้วนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ อธิษฐานเพศบรรพชิต บวชอุทิศต่อพระอรหันต์ในโลกแล้วเดินทางออกจากบ้านไปด้วยกัน พอถึงทางแยกสองแพร่ง กัสสปะได้ไปทางขวา และได้พบพระบรมศาสดาที่ใต้ร่วมพหุปุตตนิโครธ แล้วกราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา
* บวชในสำนักปริพาชก
ส่วนนางภัททกาปิลานี แยกไปทางซ้าย เดินทางไปพบสำนักของปริพาชก จึงบวชอยู่ในสำนักนั้นถึง ๕ ปี เนื่องด้วยขณะนั้นพระพุทธองค์ยังมิทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระนางปชาบดีโคตมีได้บวชแล้ว นางจึงได้มาบวชในสำนักของนางภิกษุณี ได้ศึกษาพระกรรมฐานบำเพ็ญวิปัสสนา ก็ได้บรรลุพระอรหัตผลพร้อมด้วยวิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ วิโมกข์ ๓ อภิญญา ๖ เป็นผู้ชำนาญในบุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือ ญาณเป็นเครื่องระลึกชาติ
ดังนั้นพระบรมศาสดา ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร เมื่อ ทรงสถาปนา ภิกษุณีทั้งหลายไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับ จึงทรงสถาปนาพระภัททกาปิลานีเถรี ในตำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลายในฝ่าย ผู้มีบุพเพนิวาสานุสสติญาณ
* วิโมกข์ ความหลุดพ้นจากกิเลส มี ๓ ประการ
๑. สุญญตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนัตตาคือความว่าง
๒. อนิมิตตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นอนิจังแล้วถอนนิมิตได้
๓. อัปปณิหิตวิโมกข์ หลุดพ้นด้วยเห็นทุกข์แล้วถอนความปรารถนาได้
No comments:
Post a Comment