พระมหาปชาบดีเถรี เป็นราชธิดาของพระเจ้าสุปปพุทธะ แห่งพระนครเทวทหะ เป็นพระกนิษฐภคินีของพระนางสิริมหามายา (พุทธมารดา) พระประยูรญาตถวายพระนามว่า “โคตมี”
* เป็นทั้งพระน้านางและพระมารดาเลี้ยง
พระนางสิริมหามายาทรงอภิเษกเป็นพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะศากยราช แห่งพระนครกบิลพัสดุ์ ต่อมาพระบรมโพธิสัตว์จุติจากสวรรค์ชั้นดุสิต ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายราชเทวี พอประสูติพระราชโอรส คือเจ้าชายสิทธัตถะได้เพียง ๗ วัน พระนางสิริมหามายาราชเทวี ก็สวรรคตไปบังเกิดเป็นเทพบุตรสวรรค์ชั้นดุสิต
พระเจ้าสุทโธทนะ ทรงมอบให้การเลี้ยงดูเจ้าชายสิทธัตถะแก่พระนางมหาปชาบดีโคตรมี ผู้ศักดิ์เป็นพระมาตุจฉา (พระน้านาง) ซึ่งต่อมาได้สถาปนาพระนางไว้ในตำแหน่งพระอัครมเหสี และได้ประสูติพระราชโอรสนามว่า “นันทกุมาร” และพระราชธิดานามว่า “รูปนันทา”
ครั้นเมื่อพระบรมโพธิสัตว์เสด็จออกผนวชได้บรรลุพระสัพพัญญุตญาณแล้ว เสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ ณ กรุงกบิลพัสดุ์ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร และทรงแสดงธรรมกถาโปรดพระเจ้าสุทโธทนะพุทธบิดา ในระหว่างถนน ให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิชั้นพระโสดาบัน ครั้นวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปบิณฑบาตในถนน ให้ดำรงอยู่ในอริยภูมิชั้นพระโสดาบัน ครั้นวันที่ ๒ เสด็จเข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์ ทรงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดา และพระน้านางยังพระบิดาให้ดำรงอยู่ในพระสกทาคามี ยังพระน้านางให้บรรลุพระโสดาปัตติผล และในวันรุ่งขึ้น ทรงแสดงมหาปาลชาดกโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ พอจบลง พระพุทธบิดาทรงบรรลุเป็นพระอริยบุคคลชั้นพระอนาคามี
* ขอบวชแต่ผิดหวัง
ในวันที่ ๔ แห่งการเสด็จโปรดพระประยูรญาติ พระพุทธองค์เสด็จไปในพิธีอาวาหมงคลอภิเษกสมรส นันทกุมารพระอนุชาต่างพระมารดา กับพระนางชนปทกัลยาณี เมื่อเสร็จพิธีอาวาหมงคล พระพุทธองค์ได้นำนัทกุมาร ไปบวชในวันนั้น ครั้นถึงวันที่ ๗ แห่งการเสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ได้ทรงพาราหุลกุมารออกบรรพชาเป็นสามเณรอีก จึงยังความเศร้าโศกให้ บังเกิดแก่พระเจ้าสุทโธทนะยิ่งนักเพราะเกรงว่าจะขาดรัชทายาทสืบสันติวงศ์ ครั้นกาลต่อมา พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุพระอรหัตผลแล้วเข้าสู่ปรินิพพาน เมื่อการ ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นลงแล้ว พระนางมหาปชาบดีโคตรมีรู้สึกว้าเหว่พระทัย มีพระประสงค์จะทรงผนวชในพระพุทธศาสนาจึงเสด็จไปเฝ้าพระบรมศาสดาที่นิโครธาราม กราบทูลขออุปสมบท แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงอนุญาตให้สตรีบวชในพระพุทธศาสนา พระนางกราบทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง ก็ไม่เป็นผล รู้สึกผิดหวังเศร้าโศกโทมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงกราบทูลลาเสด็จกลับพระราชนิเวศน์
พระบรมศาสดาประทับ ณ นิโครธาราม กรุงกบิลพัสดุ์ โดยสมควรแก่พระอัธยาศัยแล้วพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร เสด็จไปยังพระนครเวสาลีประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน
* พระอานนท์ช่วยกราบทูลจึงได้บวช
ขณะนั้น พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีพระทัยเปี่ยมด้วยศรัทธา รับสั่งให้ช่างกัลบกมาปลงกระเกศา แล้วครองผ้ากาสาวพัสตร์ นำพาศากิยนารีเป็นบริวารประมาณ ๕๐๐ พระองค์ (นางกษัตริย์เหล่านี้สวามีออกบวชไปก่อนแล้ว) เสด็จมุ่งตรงไปยังเมืองเวสาลีแล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลอ้อนวอนของอุปสมบท ถึงอย่างนั้น พระพุทธองค์ก็ยังไม่ทรงอนุญาต จึงเสด็จออกมายืนร้องไห้อยู่ที่ซุ้มประตู ขณะนั้น พระอานนท์ผ่านมาพบจึงสอบถามทราบความโดยตลอดแล้ว พระเถระรู้สึกสงสารคิดจะช่วยพระนาง จึงเข้าเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธองค์ว่า
“ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ถ้าสตรีบวชในพระศาสนาแล้ว อาจทำให้แจ้งซึ่งพระโสดาปัตติผล ระสกทาคามิผล รอนาคามิผล และพระอรหัตผลได้หรือไม่ พระเจ้าข้า ?”
“ดูก่อนอานนท์ อาจทำให้แจ้งได้เหมือนบุรุษเพศทุกประการ”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นควรจะอนุญาตเพื่ออนุเคราะห์แก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี ผู้มีคุณูปการบำรุงเลี้ยงดูพระองค์มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ให้สมปรารถนาด้วยเถิด พระเจ้าข้า”
“ดูก่อนอานนท์ ถ้าปชาบดีโคตรมีรับประพฤติครุธรรม ๘ จากพระผู้มีพระภาคโดยลำดับ คือ
๑. ภิกษุณีแม้อุปสมบทแล้วได้ ๑๐๐ พรรษา ก็พึงเคารพกราบไว้ พระภิกษุ แม้อุปสมบทได้วันเดียว
๒. ภิกษุณี จะอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีพระภิกษุนั้นไม่ได้ ต้องอยู่ในอาวาสที่มีพระภิกษุ
๓. ภิกษุณี จะต้องทำอุโบสถกรรม และรับฟังโอวาทจากสำนักภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน
๔. ภิกษุณี อยู่จำพรรษาแล้ว วันออกพรรษาต้องทำปวารณาในสำนักสงฆ์ทั้งสองฝ่าย(ภิกษุสงฆ์และภิกษุณีสงฆ์)
๕. ภิกษุณี ถ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสส อยู่ปริวาสกรรม ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
๖. ภิกษุณี ต้องอุปสมบทในสำนักสงฆ์สองฝ่าย หลังจากเป็นนางสิกขมานารักษาสิกขาบท ๖ ประการ คือ ๑. เว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒. เว้นจากการลักขโมย ๓. เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์ ๔.เว้นจากการพูดเท็จ ๕. เว้นจาการดื่มสุราเมรัยและของมึนเมา ๖. เว้นจากการรับประทานอาหารในเวลาวิกาล ทั้ง ๖ ประการนี้ มิให้ขาดตกบกพร่องเป็นเวลา ๒ ปี ถ้าบกพร่องในระหว่าง ๒ ปี ต้องเริ่มปฏิบัติใหม่
๗. ภิกษุณี จะกล่าวอักโกสกถาคือ ด่าบริพาษภิกษุ ด้วยอาการอย่างใดอย่างหนึ่งมิได้
๘. ภิกษุณี ตั้งแต่วันอุปสมบทเป็นต้นไป พึงฟังโอวาทจากภิกษุเพียงฝ่ายเดียว จะให้โอวาทภิกษุมิได้
พระเถระจดจำนำเอาครุธรรมทั้ง ๘ ประการนี้มาแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมี พระน้านางได้สดับแล้วมีพระทัยผ่องใสโสมนัส ยอมรับปฏิบัติได้ทุกประการ พระพุทธองค์จึงประทานการอุปสมบทให้แก่พระน้านางสมเจตนาพร้อมศากยขัดติยนารีที่ติดตามมาด้วยทั้งหมด
เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมี ได้อุปสมบทสำเร็จเป็นนางภิกษุณีแล้วเรียนพระกรรมฐานในสำนักพระบรมศาสดา อุตสาห์บำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาทไม่นานนักก็ได้ บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยภิกษุณีบริวารทั้ง ๕๐๐ รูป และได้บำเรฑญกิจพรศาสนาเต็มกำลังความสามารถ
ลำดับต่อมา เมื่อพระศาสดาประทับ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร ทรงสถาปนาภิกษุณีในตำแหน่งเอตทัคคะ หลายตำแหน่ง พระพุทธองค์ทรงพิจารณาเห็นว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีเป็นผู้มีวัยวุฒิสูง คือรู้กาลนาน มีประสบการณ์มาก รู้เหตุการณ์ต่าง ๆ มาตั้งแต่ต้น จึงทรงสถาปนาพระนางนำแหน่งเอตทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุณีทั้งหลาย ในฝ่าย ผู้รัตตัญญู คือ ผู้รู้ราตรีนาน
No comments:
Post a Comment