พระนันทกเถระ เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมืองสาวัตถี เมื่อเจริญวัยเติบโตขึ้นมา ได้มีโอกาสไปฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาแล้ว เกิดศรัทธาเลื่อมใส กราบทูลขออุปสมบทในพระพุทธศาสนา ตั้งใจบำเพ็ญเพียรเจริญสมณธรรม ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
ท่านก็เป็นอีกรูปหนึ่ง ที่มีความชำนาญเป็นพิเศษในการระลึกชาติในอดีตของตนเอง และสัตว์อื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ท่านยังมีความเชี่ยวชาญในการแสดงธรรมแก่พุทธบริษัททั้ง ๔ สามารถชี้แจงยกอุปมาอุปไมยอธิบาย จนทำให้ผู้ฟังเข้าใจแจ่มแจ้ง
ท่านเคยแสดงธรรมแก่ภิกษุณี จำนวนถึง ๕๐๐ รูป จนได้บรรลุพระอรหัตผล ณ วัดราชการาม ซึ่งเป็นวัดที่พระเจ้าปเสนทิโกศล สร้างถวายตั้งอยู่ทางทิศใต้ของเมืองสาวัตถี แคว้นโกศล ซึ่งในครั้งนั้นขณะที่พระบรมศาสดาประทับอยู่ ณ พระเชตะวันมหาวิหาร พระมหาปชาบดีเถรี ได้พาภิกษุณีประมาณ ๕๐๐ รูป มาเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา เพื่อรับฟังพระธรรมเทศนา และพระพุทธองค์ได้ทรงมอบหมายให้พระภิกษุณีเหล่านั้น และในบรรดาภิกษุสาวกเหล่านั้น ก็มีพระนันทกะรวมอยู่ด้วย
* หลีกเลี่ยงแสดงธรรมแก่ภิกษุณี
พระสาวกรูปอื่น ๆ เมื่อถึงวาระของตนก็ไปแสดงธรรมตามหน้าที่ด้วยดีทุกองค์ แต่พอถึงวาระขอพระนันทกะ ท่านไม่ไปแสดงธรรมเอง แต่ให้พระภิกษุรูปอื่นไปแสดงธรรมแทนเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะท่านระลึกชาติในอดีตได้ว่า “ภิกษุณีเหล่านั้น ในอดีตชาติเคยเป็นบาท จาริกา ข้ารับใช้ของท่านมาก่อน” ดังนั้น ท่านจึงเกรงว่า “ถ้าพระภิกษุพุทธสาวกรูปอื่น ที่สามารถระลึกชาติในอดีตได้ทราบความแล้วอาจจะตำหนิท่านว่า ยังมีความผูกพันกับภิกษุณีเหล่านั้นอยู่ก็ได้”
เรื่องนี้ทรงทราบถึงพระบรมศาสดาจึงทรงมีพระบัญชารับสั่งด้วยพระองค์เองให้พระนันทกะ ไปแสดงธรรมแก่นางภิกษุณีเหล่านั้น ท่านไม่อาจจะขัดพระบัญชาได้ จึงต้องไปเมื่อถึงสาระของตน
ท่านแสดงธรรมว่าด้วยเรื่องอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะธรรมารมณ์เมื่ออายตนะภายนอกสัมผัสกันแล้ว ทำให้เกิดเวทนา ถ้าชอบใจก็เกิดสุขเวทนา ถ้าไม่ชอบใจก็เกิดทุกขเวทนา ถ้าไม่เกิดความรู้สึกชอบใจ หรือไม่ชอบใจก็เป็นอุเบกขาเวทนา ท่านได้ชี้แจงให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยงแท้ ย่อมผันแปรเปลี่ยนไป ไม่มีตัวตนที่ควรจะยึดถือได้
ท่านพระนันทกะ ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุณีเหล่านั้นในวันแรก ภิกษุณีทั้งหลาย ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พากันชื่นชมโสมนัสยินดีในธรรมกถาของท่าน พระบรมศาสดาทราบความนั้นแล้ว จึงรับสั่งให้ท่านไปแสดงธรรมอีกเป็นครั้งที่สอง ซึ่งท่านก็ได้แสดงในเรื่องเดียวกัน เมื่อจบลงแล้วนางภิกษุณีเหล่านั้น ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ด้วยกันทั้งหมด ด้วยอานิสงส์ที่สามารถควบคุมจิตให้สงบจากความรักความผูกพันในอดีตชาติได้
ด้วยเหตุนี้ พระบรมศาสดาจึงทรงยกย่องท่านในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลาย ในทางผู้ให้โอวาทภิกษุณี
ท่านดำรงอายุสังขาร สมควรแก่กาลเวลาแล้วก็ดับขันธปรินิพพาน
No comments:
Post a Comment