2009-01-05

พระสีวลีเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก

พระสีวลี เป็นโอรสของพระนางสุปปวาสา ราชธิดาแห่งโกลิยนคร ตั้งแต่ท่านจุติลงถือปฏิสนธิในครรภ์ของพระมารดา ได้ทำให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่พระมารดาเป็นอันมาก ท่านอาศัยอยู่ในครรภ์ของพระมารดา นานถึง ๗ ปี ๗ เดือน ๗ วัน ครั้นเมื่อใกล้เวลาจะประสูติ พระมารดาได้รับทุกขเวทนาอย่างแรงกล้า พระนางจึงขอให้พระสวามีไปกราบบังคมทูลขอพรจากพระบรมศาสดา และพระพุทธองค์ตรัสประทานพรแก่พระนางว่า “ขอพระนางสุปปวาสา พระราชธิดาแห่งพระเจ้ากรุงโกลิยะ จงเป็นหญิงมีความสุขปราศจากโรคาพยาธิ ประสูติพระราชโอรสผู้หาโรคมิได้เถิด” ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธานุภาพ ทุกขเวทนาของพระนางก็อันตรธานไปพระนางประสูติพระราชโอรสอย่างง่ายดาย ดุจน้ำไหลออกจากหม้อ พระประยูรญาติทั้งหลายได้ขนาน พระนามพระราชโอรสของพระนางสุปปวาสาว่า “สีวลีกุมาร”

เมื่อพระนางมีพระวรกายแข็งแรงดีแล้ว มีพระประสงค์ที่จะถวายมหาทานติดต่อกันเป็นเวลา ๗ วัน จึงจึงความประสงค์แก่พระสวามี ให้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ มารับมหาทานอาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวสน์ ตลอด ๗ วัน
ในวันถวายมหาทานนั้น สีวลีกุมาร มีพระวรกายเข้มแข็งดุจกุมารผู้มีพระชนม์ ๗ พรรษา ได้ช่วยพระบิดาและพระมารดาจัดแจงกิจต่าง ๆ มีการนำธมกรก (ธะมะกะหรก =กระบอกกรองน้ำ) มากรองน้ำดื่มและอังคาสพระบรมศาสดาและหมู่พระภิกษุสงฆ์ ในขณะที่สีวลีกุมาร ช่วยพระบิดาและพระมารดาอยู่นั้น ท่านพระสารีบุตรเถระได้สังเกตดูอยู่ตลอดเวลาและเกิดความรู้สึกพอใจในพระราชกุมารน้อยเป็นอย่างมาก ครั้นถึงวันที่ ๗ ซึ่งเป็นวันสุดท้าย พระเถระได้สนทนากับสีวลีกุมารแล้วชักชวนให้มาบวช สีวลีกุมาร ผู้มีจิตน้อมไปในการบวชอยู่แล้ว เมื่อพระเถระชักชวน จึงกราบทูลขออนุญาตจากพระบิดาและพระมารดา เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงติดตามพระเถระไปยังพระอาราม

พระสารีบุตรเถระ ผู้รับภาระเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้สอนพระกรรมฐานเบื้องต้น คือ ตจปัญจกกรรมฐานทั้ง ๕ ได้แก่ เกสา(ผม) โลมา(ขน) นขา(เล็บ) ทันตา(ฟัน) ตโจ (หนัง) ให้พิจารณาของทั้ง ๕ เหล่านี้ว่าเป็นของไม่งานเป็นของสกปรก ไม่ควรเข้าไปยึดติดหลงใหลในสิ่งเหล่านี้ สีวลีกุมาร ได้สดับพระกรรมฐานนั้นแล้วนำไปพิจารณาในขณะที่กำลังจรดมีดโกนเพื่อโกนผม ครั้งแรกนั้นท่านได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๒ ท่านได้บรรลุเป็นพระสกทาคามี จรดมีดโกนลงครั้งที่ ๓ ท่านได้บรรลุเป็นพระอนาคามี และเมื่อโกนผมเสร็จท่านได้บรรลุเป็นพระอรหันต์

เมื่อท่านอุปสมบทแล้วปรากฏว่าท่านเป็นพุทธสาวกที่มีลาภสักการะมากมาย ด้วยอำนาจบุญบารมีของท่านที่สั่งสมมา ลาภสักการะเหล่านี้ได้เผื่อแผ่ไปยังพระสงฆ์สาวกท่านอื่น ๆ ด้วย แม้พระบรมศาสดาเมื่อทรงพาหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จทางไกลกันดาร ถ้ามี พระสีวลี ร่วมเดินทางไปด้วย ความขาดแคลนอาหาร และที่พักอาศัยในระหว่างทางก็จะไม่เกิดขึ้นแก่หมู่ภิกษุสงฆ์เลย เช่น....

* พระพุทธองค์และหมู่ภิกษุอาศัยบุญพระสีวลี
สมัยหนึ่ง พระบรมศาสดาเสด็จพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ จำนวน ๕๐๐ รูปไปเยี่ยมพระเรวตะ ผู้เป็นน้องชายของพระสารีบุตรเถระ ซึ่งจำพรรษาอยู่ ณ ป่าไม้ตะเคียน เมื่อเสด็จมาถึงทาง ๒ แพร่ง พระอานนท์เถระได้กราบทูลสภาพหนทางว่า..... “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเสด็จไปทางอ้อม ระยะทางไกล ๖๐ โยชน์ มีประชาชนอยู่อาศัยมาก พระภิกษุไม่ลำบากด้วยภิกขาจาร แต่ถ้าเสด็จไปทางลัดระยะทางประมาณ ๓๐ โยชน์ ไม่มีประชาชนอยู่อาศัย มีสภาพเป็นป่าใหญ่ มีแต่อมนุษย์อยู่อาศัย พระภิกษุสงฆ์จะลำบากด้วยภิกขาจาร” พระพุทธองค์ ตรัสถามว่า:- “ดูก่อนอานนท์ พระสีวลีมากับเราด้วยหรือไม่?” “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเสวลีมากับเราด้วย พระเจ้าข้า” พระพุทธองค์ ตรัสว่า “ดูก่อนอานนท์ ถ้าอย่างนั้นก็จงไปทางลัด ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกังวลด้วยอาหารบิณฑบาต เพราะเทวดาทั้งหลายที่สิงสถิตอยู่ในป่าระหว่างทาง จะจัดสถานที่พักและอาหารบิณฑบาตไว้ถวายพระสีวลีผู้เป็นที่เคารพนับถือของพวกตน เราทั้งหลายก็จะได้อาศัยบุญของพระสีวลี นั้นด้วย”

* ได้รับยกย่องในทางผู้มีลาภมาก
ด้วยอำนาจบุญที่ท่านพระสีวลี ได้บำเพ็ญสั่งสมอบรมมาตั้งแต่อดีตชาติ เป็นปัจจัยส่งผลให้ท่านเจริญด้วยลาภสักการะ โดยมีเทพยาดา นาค ครุฑ และมนุษย์ทั้งหลาย นำมาถวายโดยมิขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าท่านจะอยู่ในที่ใด ๆ ในป่า ในบ้าน ในน้ำ หรือบนบก เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์ จึงทรงประกาศให้ปรากฏในหมู่พุทธบริษัทตรัสยกย่องท่านในตำแหน่ง เอคทัคคะ เป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในทาง ผู้มีลาภมาก นับว่าท่านพระสีวลีเถระเป็นพระมหาสาวกอีกรูปหนึ่งที่ได้ช่วยกิจการ พระศาสนา แบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดาเป็นอย่างมาก

ท่านดำรงอายุสังขารโดยสมควรแก่กาลเวลา แล้วก็ดับขันธปรินิพพาน

คาถาบูชาพระสีวลี

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ