2008-12-21

ประเพณีเกี่ยวกับการตาย

ประเพณีเกี่ยวกับการตาย

มีพิธีทำบุญ เรียกว่า ทำบุญงานอวมงคล คืองานทำบุญหน้าศพ และงานทำบุญอัฐิ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ถึงแก่กรรมไปแล้ว ประเพณีเกี่ยวกับการตายได้แก่ การจัดการศพ การสวดพระอภิธรรม การทำบุญเจ็ดวัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน การฌาปนกิจ และการทำบุญอัฐิ หรือการทำบุญในวันคล้ายวันตายของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

การจัดการศพ การจัดการศพเริ่มจากการอาบน้ำศพ การตั้งศพ การสวดพระอภิธรรม พิธีเหล่านี้นิยมทำที่บ้านของผู้ตาย แต่ปัจจุบันในเมืองนิยมทำที่วัด

การอาบน้ำศพ เป็นพิธีทำความสะอาดศพ ถ้าถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลทางโรงพยาบาลจะทำความสะอาดตกแต่งศพมาแล้ว เจ้าภาพเพียงแต่เปลี่ยนเครื่องแต่งกายให้ศพ แล้วจัดพิธีรดน้ำศพ โดยจัดศพวางบนตั่ง ยื่นมือขวาของศพไว้บนพาน ผู้ที่มารดน้ำศพรดน้ำอบน้ำหอมลงบนมือศพ เป็นการขอขมา เวลารดน้ำศพควรคลุมศพด้วยผ้าขาว หรือผ้าอย่างอื่น หากเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ ผู้อื่นตลอดเจ้าภาพจะรดน้ำศพก่อน เมื่อประธานในพิธีรดน้ำอาบศพพระราชทานแล้ว ก็จะมีการบรรจุศพลงหีบเลยทีเดียว

การสวดพระอภิธรรม เมื่อบรรจุศพลงหีบแล้ว ก็จะจัดการตั้งศพเพื่อ สวดพระอภิธรรม นิยมสวดสามคืน ห้าคืน เจ็ดคืน แล้วจะจัดการเก็บศพ หรือทำการฌาปนกิจ ก่อนเก็บศพหรือฌาปนกิจ หรือเมื่อครบเจ็ดวัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือในวันคล้ายวันถึงแก่กรรมของผู้นั้น เจ้าภาพจะมีการทำบุญเลี้ยงพระในตอนเช้า หรือตอนเพล แล้วอาจมีเทศน์หลังจากทำบุญเลี้ยงพระ จะมีการบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตายทุกครั้ง

พิธีทำบุญเจ็ดวัน นิยมนิมนต์พระสงฆ์เจ็ดรูปเท่านั้น เพราะถือว่าเป็นงานอวมงคล การจัดไทยทานก็จัดเจ็ดที่ และในที่บางแห่งอาจมีการจัดสังฆทานประเภท มตกภัตต์ด้วย คือบรรจุสิ่งของต่าง ๆ ที่เป็นของแห้งใส่ลงในชามอ่าง กะละมัง หรือกระบุง พอพระสงฆ์ฉันภัตตาหารเสร็จแล้วจึงถวาย ใช้คำถวาย ดังนี้
อิมานิ มยํ ภนฺเต มตกภตฺตานิ สปริวารานิ ภิกขุ สงฺฆสฺส โอโณชยามะ สาธุโน ภนฺเต ภิกฺขุ สงฺโฆ มตกภตฺตานิ สปริวารานิ ปฏิคฺคนฺหาตุ อมฺหากญฺเจว มาตาปิตุ อาทีนญฺจ ญาตถานํ ฑีฆรตฺตํ หิตาย สุขาย ฯ

พิธีทำบุญ ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือวันครบรอบวันตายของผู้ตาย นิยมนิมนต์พระสงฆ์ ๑๐ รูป และนิยมทอดผ้าบังสุกุลด้วย

การฌาปนกิจศพ งานฌาปนกิจศพจะทำวันเดียวหรือสองวันก็ได้ ถ้าทำวันเดียวก็จะมีการตั้งศพ แล้วสวดพระอภิธรรมกลางคืนนั้น รุ่งเช้าถวายภัตตาหาร หรือทำบุญเลี้ยงพระเช้าหรือเพลแล้วมีเทศน์ หลังจากเทศน์ก็จัดการฌาปนกิจ

พิธีฌาปนกิจ จะเริ่มขึ้นเมื่อได้มีการสวดพระอภิธรรม ทำบุญเลี้ยงพระ เทศน์ แล้วเมื่อถึงเวลาก็เชิญศพขึ้นเมรุ หรือ ฌาปนสถาน การเคลื่อนศพขึ้นสู่เมรุ มีการนำศพเวียนซ้ายรอบเมรุสามรอบ แล้วจึงนำศพขึ้นตั้งบนเมรุ พอใกล้เวลาฌาปนกิจก็เริ่มพิธีการทอดผ้าบังสุกุลที่ศพ โดยเชิญแขกผู้ใหญ่ หรือเจ้าภาพเองเป็นผู้ทอดผ้า แล้วนิมนต์พระสงฆ์ขึ้นชักบังสุกุล เสร็จแล้วก็ถึงพิธีประชุมเพลิง มักจะเชิญแขกผู้ใหญ่หรือญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จุดเพลิงเป็นคนแรก ถ้าเป็นศพที่ได้รับพระราชทานเพลิงศพ ประธานในพิธีจะเป็นผู้จุดเพลิงพระราชทาน โดยการวางดอกไม้ขมาศพของพระราชพิธีก่อนแล้วจุดเพลิง หลังจากนั้นผู้เข้าร่วมพิธีก็เข้าจุดเพลิงตามลำดับ
หลังจากเผาจริงเสร็จ หรือในเช้าวันรุ่งขึ้น ก็จะมีพิธีเก็บอัฐิ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของวัดจะเป็นผู้ช่วยเหลือ ทำพิธีให้แก่เจ้าภาพจนเสร็จ ในสมัยก่อนหรือศพเจ้านายในปัจจุบัน ในพิธีเก็บอัฐิ จะมีพิธีเดินสามหาบด้วย

การทำบุญอัฐิ หลังจากพิธีเก็บอัฐิแล้ว ก็จะมีพิธีทำบุญอัฐิ

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ