2008-12-21

การปฎิบัติเกี่ยวกับพิธีสงฆ์

การปฎิบัติเกี่ยวกับพิธีสงฆ์

การจุดเทียนธูป ให้จุดเทียนก่อน แล้วจึงจุดธูปเป็นลำดับถัดไป โดยเริ่มจุดเทียนทางเล่มซ้ายมือของผู้จุด (ทางขวาของพระพุทธรูป) และเล่มขวามือของผู้จุด (ทางซ้ายของพระพุทธรูป) ต่อจากนั้นจึงจุดธูปดอกทางซ้ายมือของผู้จุด ไปทางขวามือ ตามลำดับ

การเคารพธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ ในพิธีสำคัญ ๆ นิยมตั้งธงชาติและพระบรมฉายาลักษณ์ ไว้ข้างที่บูชาพระพุทธรูป เมื่อกราบพระพุทธรูป ณ ที่บูชาแล้ว ให้ลุกขึ้นยืนหันไปแสดงความเคารพธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์ ตามลำดับ

การกราบ การกราบ ณ ที่บูชา หรือกราบพระสงฆ์ ควรกราบให้นับได้ว่าเป็นการกราบสามครั้ง การกราบที่หมอบลงครั้งเดียว แล้วใช้มือที่ประนมแบราบ ๆ จนครบสามครั้ง เป็นการกราบที่ไม่ถูกต้อง

การประนมมือ ให้ประนมมือ ในกรณีดังต่อไปนี้
ในพิธีเปิด - ปิด พิธี ให้ผู้อยู่ในพิธีประนมมือ เมื่อประธานเริ่มจุดเทียนไปจนถึงประธานในพิธีกราบเสร็จ และลดมือลงเมื่อประธาน ฯ ลุกขึ้นยืน เพื่อแสดงความเคารพธงชาติ และพระบรมฉายาลักษณ์

กรณีรับศีล ประนมมือ เมื่อพิธีกรเริ่มอาราธนาศีล (มะยัง ภันเต...) จนถึงพระสงฆ์ให้ศีลจบ และบอกอานิสงส์ของศีล จบลงด้วยคำว่า ตัสมา สีลัง วิโสธเย จึงลดมือลง

กรณีฟังการเจริญพระพุทธมนต์ และสวดพระพุทธมนต์ ประนมมือเมื่อพิธีกร เริ่มอาราธนาพระปริตร (วิปัตติปฎิพาหยะ...) จนถึงพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์จบ จึงลดมือลง

กรณีฟังพระสงฆ์แสดงธรรม (ฟังเทศน์) ประนมมือ เมื่อพิธีกรเริ่มอาราธนาธรรม (พรัหมา จะโลกาธิปติ...) จนถึงพระสงฆ์แสดงธรรมจบจึงลดมือลง

กรณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ฯ ผู้อยู่ในพิธีประนมมือได้ทุกกรณี

กรณีฟังพระสงฆ์สวดอภิธรรม ผู้อยู่ในพิธีเริ่มประนมมือ เมื่อพิธีกรเริ่มอาราธนาศีล และประนมมือทุกครั้ง เมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมแต่ละจบ เมื่อพระสงฆ์สวดจบทุกครั้ง ก็ลดมือลง

กรณีพูดและสนทนากับพระเถระผู้ใหญ่ ตามประเพณีของชาวพุทธ ผู้เป็นคฤหัสถ์ต้องประนมมือทุกครั้ง

กรณีเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช เมื่อกราบทูล เมื่อสนทนา เมื่อกล่าวรับ เช่น ตอบคำถาม เมื่อพระองค์ประทานพร เมื่อพระองค์ประทานน้ำพระพุทธมนต์ ให้ประนมมือทุกครั้ง

ถวายผ้าป่า ผ้ากฐิน เมื่อรับศีล ฟังเทศน์ ฟังพระสงฆ์สวดบทนะโม ผู้อยู่ในพิธีประนมมือได้ทุกตอน

การกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์ขึ้นบทอนุโมนทนาว่า "ยถา วาริวหา" ประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ เริ่มกรวดน้ำทันที ให้ผู้อยู่ในพิธีประนมมือด้วย เมื่อพระสงฆ์สวดจบถึงวรรคสุดท้ายที่ว่า "มณีโชติรโส ยถา" ให้ประธานเทน้ำให้หมดภาชนะ แล้วนั่งประนมมือฟังพระสงฆ์ให้พรต่อไป จบแล้วกราบสามครั้ง ผู้อยู่ในพิธีจึงเอามือลงได้

การสวดพระอภิธรรม เมื่อประธานในพิธี หรือเจ้าภาพ จุดเทียนธูป บูชาพระรัตนตรัย ให้ประนมมือ เมื่อประธานกลับมานั่งที่เดิม พิธีกรจะอาราธนาศีล ให้ประธานและผู้เข้าร่วมพิธีประนมมือ เมื่อพระสงฆ์สวดพระอภิธรรมจบ ฝ่ายเจ้าภาพถวายไทยธรรม พิธีกรลาดผ้าภูษาโยง หรือด้ายสายสิญจน์ และเชิญทอดผ้าบังสุกุลเสร็จ กลับมานั่งที่เดิม (ไม่ต้องประนมมือ)
ขณะที่พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล และกล่าวคำว่า "อนิจจัง วะตะสังขารา..." ประธานและผู้อยู่ในพิธีประนมมือด้วย เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา (ยถา วาริวหา...) ให้ประธานกรวดน้ำ แล้วประนมมือต่อไปจนจบ (ผู้ร่วมพิธีประนมมือ) ประธานกราบลาพระรัตนตรัย ที่โต๊ะบูชา

ในงานฌาปนกิจทั่วไป เมื่อเจ้าภาพเชิญประธานในพิธีขึ้นทอดผ้ามหาบังสุกุล ก่อนประกอบพิธีประชุมเพลิง ให้ประธานเดินไปข้างหน้าผู้เชิญ เมื่อถึงเมรุแล้ว ทำความเคารพตามประเพณีนิยม รับผ้าบังสุกุลแล้ว วางทอดไว้ ณ ภาชนะที่รองรับ หรอืวางไว้บนหีบศพ เมื่อพระสงฆ์ขึ้นไปบนเมรุ ให้ประธานน้อมตัวลงยกมือไหว้ ขณะที่พระสงฆ์ชักผ้าบังสุกุล ประธานพึงประนมมือ (ผู้ร่วมพิธีไม่ต้องประนมมือ) ขณะที่พระสงฆ์ลงจากเมรุ ให้ประธานน้อมตัวลงยกมือไหว้ อีกครั้งหนึ่ง แล้วให้เริ่มพิธีประชุมเพลิงต่อไป

ในงานพระราชทานเพลิงศพ เมื่อเจ้าภาพเชิญผู้เป็นประธาน ฯ ขึ้นเมรุ เพื่อทอดผ้ามหาบังสุกุล (ผ้าไตรผืนสุดท้าย) ประธาน ฯ จะทอดผ้ามหาบังสุกุล ถ้าเป็นผ้าไตรของหลวงพระราชทานต้องใช้พัดยศ พระสงฆ์ชักผ้ามหาบังสุกุล แล้วลงจากเมรุ (ประธานประนมมือแต่ผู้เดียว) จากนั้น ประธาน ฯ หันหน้าไปทางทิศที่พระเจ้าอยู่หัวประทับ ถวายคำนับและหยิบกระทงข้าวตอก กระทงดอกไม้ จากพนักงานพระราชพิธี วางที่ฐานฟืนหน้าหีบศพ แล้วหยิบดอกไม้จันทน์ จากพนักงานพระราชพิธี จุดเพลิงพระราชทานจากโคมไฟ ที่เจ้าพนักงาน ฯ ถือเชิญไปสอดวางลงในใต้พื้นรองศพ คำนับศพหนึ่งครั้ง แล้วหันไปทางทิศที่พระเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ ถวายคำนับอีกครั้ง แล้วจึงลงจากเมรุ

ห้ามประนมมือในโอกาสต่อไปนี้ ในงานพระราชพิธี หรืองานบำเพ็ญพระราชกุศลล ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว หรือสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นประธานในพิธี เมื่อพระสงฆ์ถวายอดิเรก (ถวายพระพร) ซึ่งขึ้นต้นด้วยข้อความว่า "อติเรกะ วัสสะสะตัง ชีวะตุ...." และจบลงด้วยข้อความว่า "...ภวตุ สัพพทา ขอถวายพระพร" ผู้อยู่ในพิธีไม่ต้องประนมมือ เมื่อถวายอดิเรกจบแล้ว พระสงฆ์สวดบท ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุสัพพะเทวะตา... ผู้อยู่ในพิธีประนมมือได้อีกตามเดิม

เมื่อพิธีสงฆ์จบแล้ว พระสงฆ์องค์ประธานจะถวายพระพรลาด้วยข้อความว่า " ขอถวายพระพร เจริญพระราชสิริสวัสดิ์ พิพัฒนมงคล พระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร องค์สมเด็จพระปรมินทรธัมมิกมหาราชเจ้า ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ เวลานี้สมควรแล้ว อาตมภาพทั้งปวง ขอถวายพระพรลา แด่สมเด็จพระบรมบพิตรพระราชสมภาร พระองค์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ ขอถวายพระพร"

ขณะที่พระสงฆ์กล่าวข้อความถวายพระพรทั้งหมดนี้ ผู้อยู่ในพิธีไม่ต้องประนมมือ

เมื่อพระสงฆ์ขึ้นเทศน์ หลังจากที่พระให้ศีลจบแล้ว พระสงฆ์จะถวายพระพรเทศนาก่อน ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ถวายพระธรรมเทศนา ห้ามมิให้ผู้ใดประนมมือ จนกว่าพระสงฆ์รูปที่เทศน์จะขึ้นบท "นะโม ตัสสะ"

ที่มา : หอมรดกไทย

1 comment:

Unknown said...

กราบขอบพระคุณครับ มีประโยชน์ใช้ในกิจที่เป็นสากลดีจริง ๆ ครับ

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ