พิธีสวดมาติกา
การสวดมาติกา คือการสวดบทมาติกาของพระอภิธรรมเจ็ดคัมภีร์หรือที่เรียกว่า สัตตัปปกรณาภิธรรม ซึ่งมีการบังสุกุลเป็นที่สุด เป็นประเพณีนิยม จัดให้พระสงฆ์สวดในงานทำบุญหน้าศพอย่างหนึ่ง เรียกในงานหลวงว่า สดับปกรณ์ แต่ราษฎรทั่วไปเรียกว่า สวดมาติกา โดยจัดเป็นพิธีต่อจากการสวดพระพุทธมนต์เย็นบ้าง ถ้ามีเทศน์ต่อจากการสวดพระพุทธมนต์ เย็นก็จัดพิธีสวดมาติกาจากการเทศน์ และจัดให้มีต่อจากพิธีเลี้ยงพระในวันรุ่งขึ้นบ้าง นับเป็นพิธีทำบุญแทรกในระหว่างงานทำบุญหน้าศพ
การจัดพิธีสวดมาติกา มีนิยมทำกัน ดังนี้
๑) ฝ่ายเจ้าภาพพึงเผดียงสงฆ์ ตามจำนวนและแจ้งกำหนดเวลา จำนวนพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีสวดมาติกา นิยมเท่าจำนวนอายุของผู้มรณะ หรือเท่าจำนวนพระสงฆ์ทั้งหมดของวัด หรือน้อยกว่าที่กล่าวนี้ก็ได้
๒) เตรียมจัดที่สำหรับพระสงฆ์สวดมาติกา ถ้าอาสนะไม่พอกับจำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์ ก็ให้พระสงฆ์ขึ้นประกอบพิธีเป็นชุด ๆ จนครบจำนวน
๓) พระสงฆ์ที่รับนิมนต์ มีพัดไปด้วยทุกรูปเพื่อใช้ในพิธี ในกรณีที่มีพัดไม่ครบ ก็ให้มีแต่หัวหน้าเพียงรูปเดียว เมื่อได้เวลาก็ขึ้นนั่งบนอาสนะพร้อมกันทั้งหมด ถ้าเป็นงานหลวงใช้พัดยศต้องนั่งเรียงตามศักดิ์พัดที่ตนถือ เมื่อพร้อมแล้วเจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าศพเป็นสัญญาณ ถ้าไม่มีพิธีรับศีลเพราะรับมาก่อนแล้ว พึงตั้งพัดพร้อมกันทุกรูปแล้วหัวหน้าสงฆ์นำสวดบทมาติกา ดังนี้
# นำสวด นโม ฯลฯ
# นำสวดบท กสฺลา ธมฺมา ฯลฯ
# นำสวดบท ปญฺจกฺ ขนฺธา ฯลฯ (เฉพาะงานหลวงหรืองานใหญ่เป็นพิเศษ)
# นำสวดบท เหตุปจฺจโย ฯลฯ
เมื่อจบแล้ววางพัด เพื่อให้เจ้าภาพทอดผ้าบังสุกุล
เมื่อพระสงฆ์สวดจบ เหตุปจฺจโย ฯลฯ ก่อนจบเจ้าภาพพึงลากผ้าภูษาโยง หรือสายโยงจากศพให้ลาดตรงหน้าพระสงฆ์ พอพระสงฆ์สวดจบก็ทอดผ้าลงบนภูษาโยง เท่าจำนวนพระสงฆ์บนอาสนะ
๔) พอเจ้าภาพทอดผ้าเสร็จ พระสงฆ์ทั้งนั้นพึงตั้งพัดชักบังสุกุล เสร็จแล้วเปลี่ยนมือมาจับด้ามพัดตามแบบสวดอนุโมทนา แล้วพึงอนุโมทนา ด้วยบท
# ยถา ฯลฯ สพฺพีติโย ฯลฯ
# ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวายอดิเรก
# อทาสิ เม ฯลฯ
# ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
# ในงานหลวงหน้าพระที่นั่ง พระราชาคณะถวายพระพรลา
เจ้าภาพกรวดน้ำ เมื่อพระสงฆ์ว่า ยถา ฯลฯ พอพระสงฆ์ว่า สพฺพีติโย ฯลฯ พึงพนมมือรับพร
ที่มา : หอมรดกไทย
No comments:
Post a Comment