พิธีอนุโมทนากรณีต่างๆ
ธรรมเนียมของพระภิกษุสามเณร เมื่อได้รับปัจจัยลาภจะเป็นภัตตาหารหรือทานวัตถุใด ๆ ก็ตามจากทายกทายิกาแล้ว ต้องทำพิธีอนุโมทนาทานนั้นทุกคราว จะเว้นเสียมิได้ ถือว่าผิดพุทธานุญาต ต่างแต่ว่าอนุโมทนาต่อหน้าหรือลับหลัง ทายกทายิกานั้นเท่านั้น ธรรมเนียมนี้มีมาแต่ครั้งพุทธกาล การอนุโมทนาลับหลังทายกทายิกามีกรณีเดียวคือ การบิณฑบาต แต่กลับมาวัดฉันอาหารบิณฑบาตนั้นแล้ว พึงอนุโมทนา หรือยกไปรวมอนุโมทนาในพิธีทำวัตรสวดมนต์ทุกตอนเช้าและตอนเย็นก็ได้
วิธีอนุโมทนา มีนิยมเป็นสองอย่างเรียกว่า สามัญอนุโมทนา และวิเสสอนุโมทนา
สามัญอนุโมทนา คือการอนุโมทนาที่นิยมใช้กันทั่วไปปกติ มีระเบียบพิธี ดังนี้
๑) อนุโมทนาในงานต่าง ๆ ร่วมกันหลายรูป ผู้เป็นหัวหน้าตั้งพัดว่าบท ยถา ฯลฯ ถ้าไม่มีพัดพึงประนมมือว่า
๒) เมื่อจบบท ยถา ฯลฯ แล้วรูปที่สองนำรับ สพฺพีติโย ฯลฯ
๓) จบบท สพฺพีติโย ฯลฯ แล้ว หัวหน้านำว่า ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
ถ้าอนุโมทนารูปเดียว มีพัดก็ตั้งพัด ว่าตั้งแต่บท ยถา ฯลฯ ติดต่อกันไปเป็นจังหวะ ๆ จนจบบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ถ้าไม่มีพัดก็ประนมมือว่า
วิเสสอนุโมทนา คือการอนุโมทนาด้วยบทสวดสำหรับอนุโมทนาเป็นพิเศษเฉพาะทาน เฉพาะกาล และเฉพาะเรื่อง ซึ่งบทสวดพิเศษเฉพาะนี้ แทรกสวดระหว่างดำเนินพิธีสามัญอนุโมทนาดังกล่าวแล้ว พอว่าบท สพฺพีติโย ฯลฯ จบก็ว่าบทอนุโมทนาพิเศษขึ้นแทรกต่อ จบแล้วจึงว่าบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ เป็นบทสุดท้าย
บทอนุโมทนาพิเศษ ที่เป็นบทนิยมเฉพาะทาน มีดังนี้
๑) อนุโมทนาอาหารบิณฑบาตทั่วไป นิยมใช้บท โภชนทานานุโมทนาคาถา อายุโท พลโธธีโร ฯลฯ บางทีใช้บทมงคลจักรวาฬน้อยทั้งบทขึ้น สพฺพพุทธานุภาเวน ฯลฯ หรือตัดขึ้นตั้งแต่ รตนตฺตยานุภาเวน รตนตฺตยเตชสา ทุกขโรคภายา เวรา ฯลฯ
๒) อนุโมทนาวิหารแทน คือ โบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน กุฎี เสนาสนะที่อยู่อาศัยของสงฆ์ รวมทั้งเครื่องเสนาสนะ จะอนุโมทนาในคราวถวาย หรือในคราวฉลองก็ตาม นิยมใช้วิหารทานคาถา สีตํ อุณฺหํ ปฏิหนฺติ ฯลฯ
๓) อนุโมทนาการสร้างปูชนียวัตถุ หรือถาวรวัตถุ ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น พระพุทธรูป พระสถูป พระเจดีย์ และหนังสือธรรมวินัยถวายวัด ตลอดถึงที่บรรจุอัฐิ และฌาปนสถาน เป็นต้น จะอนุโมทนาในกาลถวายหรือในการฉลองวัตถุดังกล่าวนั้นก็ตาม นิยมใช้บท อัคคัปปสาทสูตร อคฺคโต เว ปสนฺนานํ ฯลฯ หรือ บท นิธิกัณฑสูตร ทั้งสูตรขึ้น นิธิ นิธิเต ปุริโส ฯลฯ หรืออย่างย่อตัดขึ้นตั้งแต่ ยสฺส ทาเนน สีเลน ฯลฯ เป็นต้นไปก็ได้
บทวิเสสอนุโมทนาที่นิยมเฉพาะกาล ส่วนมากเกี่ยวด้วยกาลทานโดยเฉพาะ คือในกาลที่ทายกทายิกาถวายผ้าอาบน้ำฝน ผ้าวัสสาวาสิก ตักบาตรน้ำผึ้ง ถวายผ้าอัจเจกจีวร และผ้ากฐิน เหล่านี้นิยมใช้กาลทานสุตตคาถา กาเล ททนฺติ สปญฺญา ฯลฯ ถ้ากาลทานดังกล่าวเป็นของหลวง เช่นในการพระราชทานผ้ากฐิน เป็นต้น ระเบียบการถวายอนุโมทนาทั้งบทสามัญและบทพิเศษ มีดังนี้
๑) ตั้งพัดพร้อม หัวหน้าว่าบท ยถา ฯลฯ
๒) รูปที่สองนำว่า บท สพฺพีติโย ฯลฯ พร้อมกัน
๓) หัวหน้าสงฆ์ว่านำเฉพาะรูปเดียวด้วยบท เกณิยานุโมทนาคาถา อคฺคิหุตฺตํ มุขา ยญฺญา ฯลฯ
๔) รูปที่สองนำรับ กาลทานสุตตคาถา กาเล ททนฺติ สปญฺญา ฯลฯ พร้อมกัน
๕) หัวหน้าสงฆ์ถวายอดิเรก
๖) รูปที่สองนำรับ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ พร้อมกัน
สำหรับบทวิเสสอนุโมทนาที่นิยม เฉพาะเรื่อง มีอยู่หลายเรื่องด้วยกันดังนี้
๑) อนุโมทนาในงานทำบุญปี ตามที่เคยทำทุกปี นิยมใช้บท อาทิยสุตตคาถา ภุตฺตา โภคา ภตา ภจฺจา ฯลฯ
๒) อนุโมทนาในงานบุญอายุใหญ่ สวดนพเคราะห์ มีพิธีโหรบูชาเทวดา และในพระราชพิธีสมโภชพระมหาเศวตฉัตร ในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล และในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานิยมใช้บท เทวตาทิสสทักขิณานุโมทนาคาถา ยสฺมึ ปเทเส กปฺเปติ ฯลฯ และบท เทวตาภิสัมมันตนคาถา ยานิธ ภูตานิ สมาคตานิ ฯลฯ ต่อกัน ถ้าในงาน หรือในพระราชพิธีนั้นมีน้ำมนต์ตั้งเทียนไว้เพื่อให้ทำน้ำพระพุทธมนต์ นิยมสวดบท ปริตตกรณปาฐะ ยาวตา สตฺตา ฯลฯ สำหรับทำน้ำมนต์ ต่อจากบท เทวตาภิสัมมันตนคาถา
๓) อนุโมทนาในงานทำบุญอายุครบรอบปีธรรมดา นิยมใช้บท โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ สำหรับชาย หรือ สาอตฺถลทฺธา ฯลฯ สำหรับหญิง แล้วต่อด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
๔) อนุโมทนาในงานบรรพชาอุปสมบท หรืองานฉลองพระบวชใหม่รูปเดียวใช้ โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ หลายรูปใช้ เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ บทเดียว
๕) อนุโมทนาในงานมงคลสมรส ใช้บท โส อตฺถลทฺโธ ฯลฯ บทโส อตฺถลทฺธา ฯลฯ และบท เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ ควบกันทั้งสามบท ต่อท้ายด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
๖) อนุโมทนาในงานแจกประกาศนียบัตร เป็นต้น ซึ่งร่วมกันหลายคน นิยมใช้บท เต อตฺถลทฺธา ฯลฯ ต่อท้ายด้วยมงคลจักรวาฬน้อย
๗) อนุโมทนาในงานอวมงคลเกี่ยวด้วยศพ นิยมใช้บท ติโรกุฑฑกัณฑ์ มีแตกต่างกันคือ
- ถ้าในงานทำบุญหน้าศพ ขึ้น อทาสิ เม อกาสิ เม ฯลฯ
- ถ้าในงานทำบุญอัฐิ ขึ้น อยญฺ จ โข ทุกฺขิณา ทินนา ฯลฯ
- ถ้าในงานทำบุญ บุพพเปตพลีทาน เช่นในวันสารท มักใช้สวดเต็ม ขึ้น ติโรกุทฺเทสุ ติฏธนฺติ ฯลฯ หรือจะย่อ ขึ้น อยญฺ จ โข ทกฺขิณา ทินฺนา ฯลฯ ก็ได้
ที่มา : หอมรดกไทย
No comments:
Post a Comment