2008-12-20

พิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคล

พิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานมงคล

การทำบุญเลี้ยงพระ มักนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ในสถานที่ ที่ประกอบพิธีในตอนเย็น เรียกกันสามัญว่าสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นเวลาเช้า (บางกรณีเป็นเวลาเพล) ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุที่เจริญพระพุทธมนต์ เรียกกันว่า เลี้ยงพระเช้า (เลี้ยงพระเพล) หรือฉันเช้า (ฉันเพล) และในคราวเดียวกันก็มีการตักบาตรด้วย ถ้ามีเวลาน้อยจะย่นเวลามาทำกันในวันเดียวตอนเช้า หรือในตอนเพลตามสะดวก โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ก่อน จบแล้วถวายภัตตาหารให้เสร็จสิ้นในห้วงเวลาเดียวกัน
งานทำบุญเลี้ยงพระนี้นิยมทั้งในงานมงคล และงานอวมงคลทั่วไป มีระเบียบพิธีดังนี้

การทำบุญงานมงคล

เจ้าภาพจะต้องเตรียมกิจการต่าง ๆ ดังนี้
๑) อาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์

๒) เตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา และตกแต่งสถานที่บริเวณพิธี คือ
- วงด้ายสายสิญจน์ เชิญพระพุทธรูปมาตั้งบนที่บูชา ปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์เตรียมตั้งเครื่องรับรองพระสงฆ์ และตั้งภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์

๓) เมื่อพระสงฆ์มาถึง คอยล้างเท้าให้ และประเคนเครื่องรับรองที่จัดไว้

๔) ได้เวลาแล้วจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา บูชาพระแล้วกราบนมัสการสามครั้ง

๕) อาราธนาศีล และรับศีล

๖) อาราธนาพระปริตร เสร็จแล้วไหว้หรือกราบแล้วแต่กรณี

๗) นั่งฟังพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ เมื่อจบแล้วถวายน้ำร้อนหรือเครื่องดื่ม อันควรแก่สมณะ

พิธีฝ่ายพระภิกษุ ควรมีพัดไปด้วยทุกรูป และควรใช้พัดงานมงคล ถ้าไม่สามารถนำพัดไปได้ทุกรูปก็มีไปเฉพาะหัวหน้ารูปเดียว จะขาดเสียมิได้ เพราะพัดจำเป็นต้องใช้ในคราวให้ศีล ขัดสคฺเค และขัดตำนาน อนุโมทนาท้ายพิธี และถ้ามีการบังสุกุลอัฐิประกอบด้วยก็ต้องใช้พัดทุกรูป

เมื่อไปถึงงาน ขณะขึ้นนั่งบนอาสนะ ให้เข้าที่นั่งกันตามลำดับไว้ระยะให้พองาม นั่งแบบพับเพียบ ให้ได้แถวให้ได้แนว ดุเข่าให้เสมอกัน และนั่งอย่างผึ่งผาย เข้าที่แล้ววางพัดไว้ข้างหลังด้านขวามือ

เมื่อเจ้าภาพเริ่มอาราธนาศีล ผู้เป็นหัวหน้าพึงคลี่กลุ่มสายสิญจน์ แล้วส่งต่อกันไปจนถึงรูปสุดท้าย พออาราธนาศีลถึงวาระที่สามว่า ตติยมฺปิ ฯลฯ ผู้เป็นหัวหน้าพึงตั้งพัดเตรียมให้ศีล การจับพัดให้จับด้วยมือขวาที่ด้ามคอพัดต่ำลงมา ๔ - ๕ นิ้ว หรือกะว่าจับตรงส่วนที่สามตอนบนของด้ามพัด ใช้มือกำด้ามพัดด้วยนิ้วทั้งสี่เว้นนิ้วหัวแม่มือ เฉพาะนิ้วแม่มือยกขึ้นแตะด้ามพัดให้ทาบตรงขึ้นไป นำสายสิญจน์ขึ้นพาดไว้บนนิ้วชี้ ตั้งพัดให้ตรงหน้าปลายด้านอยู่ตรงกึ่งกลาง อย่าให้ห่างตัวหรือชิดตัวนัก และอย่าตั้งนอกสายสิญจน์ หน้าพัดหันออกด้านนอก ให้พัดตั้งตรงได้ฉาก ทั้งซ้ายขวา หน้าหลัง พอจบคำอาราธนาศีลก็ตั้ง นโม ฯลฯ ให้ศีลทันที ให้ไปถึงตอนจบไตรสรณาคมน์ ไม่ต้องว่า ติสรณคมนํ นิฏฺฐิตํ เพราะคำนี้ใช้เฉพาะในพิธีสมาทานศีลจริง ๆ เช่น สมาทานศีลอุโบสถ พึงให้ศีลต่อไตรสรณาคมน์ พอให้ศีลจบก็วางพัด

เมื่อเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรถึงครั้งที่สาม รูปที่ต้องขัด สคฺเค เตรียมตั้งพัด พออาราธนาจบก็เริ่มขัดได้ พอขัดจบ พระสงฆ์ทุกรูปยกสายสิญจน์ขึ้นประนมมือพร้อมกัน ใช้ง่ามนิ้วมือทั้งสองรับสายสิญจน์ไว้ในระหว่างประนมมือ แล้วหัวหน้านำว่า นโมและสวดมนต์บทต่าง ๆ ไปตามแบบนิยม

ในการเจริญพระพุทธมนต์งานมงคลทุกแบบ มีตั้งภาชนะน้ำมนต์ไว้ด้วย เพื่อให้พระสงฆ์ทำน้ำมนต์ในขณะสวด ซึ่งเป็นหน้าที่ของหัวหน้าสงฆ์ เจ้าภาพจะจุดเทียนน้ำมนต์ตั้งแต่พระสงฆ์เริ่มสวดมงคลสูตร พอสวดรตนสูตรถึงตอน ขีณํ ปุราณํ นวํ นตฺถิ สมฺภวํ ฯลฯ หัวหน้าสงฆ์พึงใช้มือขวาปลดเทียนน้ำมนต์ ออกจากที่ปักไว้ แล้วจับเทียนกับสายสิญจน์เอียงเทียนให้น้ำตาเทียนหยดลงในน้ำ พร้อมกับสวดพอสวดถึงคำว่า นิพฺ ในคำว่า ปทีโป จึงยกขึ้น แล้ววางหรือติดเทียนไว้ตามเดิม เป็นอันเสร็จพิธีทำน้ำมนต์ ต่อจากนั้นจึงสวดมนต์ต่อไปจนจบ

ถ้าเจ้าภาพประสงค์ให้มีการพรมน้ำพระพุทธมนต์ต่อท้าย จะต้องเตรียมสิ่งสำหรับพรมคือ หญ้าคา หรือก้านมะยม มัดไว้เป็นกำ การใช้ก้านมะยมนิยมใช้เจ็ดก้านมัดรวมกัน ในการพรมน้ำพระพุทธมนต์ ควรเป็นหน้าที่ของผู้เป็นหัวหน้าสงฆ์ในพิธีนั้น การพรมพึงจับกำหญ้าคา หรือก้านมะยม ใช้มือขวากำรอบด้วยนิ้วทั้งสี่ เว้นนิ้วชี้ให้ชี้ตรงไปตามกำหญ้าคา หรือกำก้านมะยม มีอาการอย่างชี้นิ้ว เป็นการแสดงปกาสิตของพระสงฆ์ จุมปลายกำหญ้า หรือกำก้านมะยมลงในน้ำพระพุทธมนต์อย่าให้โชกนัก แล้วสะบัดให้น้ำพระพุทธมนต์ออกไปข้างหน้า ขณะเริ่มพรม พระสงฆ์ที่เหลือควรสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ พร้อมกัน

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ