2008-12-19

พิธีสวดพระพุทธมนต์

พิธีสวดพระพุทธมนต์
การสวดพระพุทธมนต์ คือการสวดมนต์เป็นพิธีสงฆ์ในงานอวมงคล ระเบียบพิธีพึงจัดเหมือนกับงานทั่วไป ต่างแต่ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพ ไม่ต้องสงสายสิญจน์ และไม่ต้องตั้งน้ำมนต์ ถ้าปรารภศพแต่ไม่มีศพตั้งอยู่ในบริเวณพิธี จะวางสายสิญจน์โดยถือเป็นการทำบุญบ้านไปในตัวด้วยก็ได้ แม้นำมนต์จะตั้งด้วยก็ได้ ส่วนระเบียบพิธีฝ่ายสงฆ์มีนิยมต่างกันตามประเภทของงานเป็นอย่าง ๆ คือ

งานทำบุญหน้าศพ หมายถึงทำในขณะศพยังอยู่ ยังมิได้ปลงด้วยวิธีฌาปนกิจ มีที่นิยมทำกันทั่วไปมีสี่ลักษณะ ได้แก่
ทำบุญเจ็ดวัน วันแรกนับแต่วันมรณะ ทำเป็นงานออกแขกใหญ่ เรียกว่า ทักษิณานุสรณ์ หรือเรียกกันโดยทั่วไปว่า งานทำบุญสัตตมวาร
ทำบุญทุกเจ็ดวัน ก่อนครบ ๕๐ วัน มักนิยมทำเป็นการภายในไม่ออกแขกเรียกว่า ทักษิณานุประทาน
ทำบุญ ๕๐ วันและ ๑๐๐ วัน เป็นงานออกแขก

ทำบุญเปิดศพก่อนปลง เป็นการทำหน้างานปลงศพ อาจทำเป็นการภายใน แล้วออกแขกใหญ่ในงานปลง งานนี้จะทำเป็นงานสองวัน คือมีสวดพระพุทธมนต์เย็นวันหนึ่ง รุ่งขึ้นมีพิธีเลี้ยงพระ และฌาปนกิจในเวลาบ่ายหรือเย็น จะทำเป็นงานวันเดียว โดยเริ่มต้นตอนเช้าทำพิธีสวดพระพุทธมนต์แล้วเลี้ยงพระ บ่ายหรือเย็นชักศพไปทำการฌาปนกิจ ในงานทำบุญดังกล่าวนี้ มีนิยมจัดให้มีพระธรรมเทศนา สวดมาติกา บังสุกุล และสวดพระอภิธรรมด้วย พระสูตรที่นำมาสวดในงานนี้มักใช้ธรรมนิยามสูตร หรือสติปัฏฐานปาฐะ เป็นพื้น

ถ้ามีการแสดงพระธรรมเทศนาต่อจากพิธีสวดพระพุทธมนต์ เจ้าภาพไม่ต้องอาราธนาศีลก่อน พอจุดธูปเทียนหน้าพระ และหน้าศพเสร็จก็อาราธนาพระปริตร แล้วพระสงฆ์ดำเนินพิธีสวดพระพุทธมนต์ การรับศีลไปประกอบพิธีเทศน์หลังสวดมนต์จบ แต่ถ้าจะรับศีลทั้งสองวาระก็ทำได้

งานทำบุญอัฐิ เป็นการทำบุญหลังการปลงศพแล้ว นิยมทำกันสามลักษณะ คือ
ทำบุญฉลองธาตุ ต่อจากวันฌาปนกิจเสร็จแล้วเป็นการทำบุญในบ้าน เมื่อเก็บอัฐิแล้วนำมาไว้ในบ้าน หรือจะทำในสถานที่บรรจุอัฐิธาตุ สำหรับผู้ที่เตรียมที่บรรจุไว้ก่อนแล้วก็ได้
ทำบุญเจ็ดวัน ทำหลังจากฌาปนกิจ คือปลงศพแล้ว
ทำบุญอุทิศให้ผู้มรณะในรอบปี คือทำในวันคล้ายวันมรณะ ที่เวียนมาบรรจบในรอบปี บางท่านอาจนำไปรวมทำในวันเทศกาลของปี เช่นวันสารท วันตรุษสงกรานต์

งานทำบุญทั้งสามลักษณะดังกล่าว การจัดบริเวณพิธีเหมือนกับงานทำบุญทั่วไป ต่างแต่นำโกศอัฐิมาตั้งเป็นประธานแทนศพ จะใช้รูปถ่ายของผู้มรณะแทนอัฐิก็ได้ บางท่านก็ใช้บริเวณโต๊ะหมู่เครื่องบูชาพระพุทธรูปหัวอาสนสงฆ์ เป็นที่ตั้งโกศอัฐิด้วย คือตั้งโกศชั้นต่ำกว่าพระพุทธรูปลงมา ถ้ามีวงสายสิญจน์ทำบุญบ้านด้วย ห้ามนำสายสิญจน์วงโกศก่อน ตอนจะบังสุกุลอัฐิท้ายพิธี ถ้าไม่มีภูษาโยง หรือสายสิญจน์ที่จะใช้แทนภูษาโยงต่างหาก จะใช้สายสิญจน์วงบ้านวงพระพุทธ ต้องตัดสายสิญจน์ที่วงบ้านหรือพระพุทธรูปให้ขาดก่อน แล้วตั้งต้นวงเฉพาะโกศอัฐิเท่านั้น ชักไปสู่พระสงฆ์แทนภูษาโยง

สำหรับระเบียบสวดพระพุทธมนต์ต้องดูให้สมควร ถ้าเจ้าภาพวงสายสิญจน์ตั้งน้ำมนต์ เป็นการฉลองบ้านด้วย ก็สวดมนต์เจ็ดตำนานเหมือนงานมงคลทั่วไป ต่างแต่ตอนท้ายพิธีมีชักบังสุกุลอัฐิเป็นงานอวมงคล และอนุโมทนาทานเพื่อผู้มรณะเท่านั้น ถ้าเจ้าภาพไม่วงสายสิญจน์ไม่ตั้งน้ำมนต์ แต่ตั้งโกศอัฐิเป็นประธาน แสดงว่าเจ้าภาพต้องการให้งานนี้เป็นเพื่อผู้ตายโดยตรง และเป็นงานอวมงคล พระสงฆ์ต้องประกอบพิธีสวดพระพุทธมนต์ อย่างเดียวกับงานทำบุญเปิดศพที่กล่าวมาแล้ว

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ