2008-12-20

พิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานอวมงคล

พิธีทำบุญเลี้ยงพระในงานอวมงคล

การทำบุญเลี้ยงพระ มักนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ในสถานที่ ที่ประกอบพิธีในตอนเย็น เรียกกันสามัญว่าสวดมนต์เย็น รุ่งขึ้นเวลาเช้า (บางกรณีเป็นเวลาเพล) ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุที่เจริญพระพุทธมนต์ เรียกกันว่า เลี้ยงพระเช้า (เลี้ยงพระเพล) หรือฉันเช้า (ฉันเพล) และในคราวเดียวกันก็มีการตักบาตรด้วย ถ้ามีเวลาน้อยจะย่นเวลามาทำกันในวันเดียวตอนเช้า หรือในตอนเพลตามสะดวก โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ก่อน จบแล้วถวายภัตตาหารให้เสร็จสิ้นในห้วงเวลาเดียวกัน
งานทำบุญเลี้ยงพระนี้นิยมทั้งในงานมงคล และงานอวมงคลทั่วไป มีระเบียบพิธีดังนี้

การทำบุญงานอวมงคล

การทำบุญเกี่ยวกับเรื่องการตาย นิยมทำกันอยู่สองอย่าง ทำบุญหน้าศพ ที่เรียกกันว่า ทำบุญเจ็ดวัน ๕๐ วัน ๑๐๐ วัน หรือทำบุญวันปลงศพอย่างหนึ่ง และทำบุญอัฐิ หรือทำบุญปรารภการตายของบรรพบุรุษ หรือผู้หนึ่งผู้ใดในวันคล้ายวันตายของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว อีกอย่างหนึ่ง มีระเบียบที่พึงปฏิบัติดังนี้

งานทำบุญหน้าศพ มีพิธีฝ่ายเจ้าภาพและฝ่ายภิกษุสงฆ์ ดังนี้
๑) อาราธนาพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ นิยม ๘ รูป หรือ ๑๐ รูป หรือกว่านั้นแล้วแต่กรณี

๒) ไม่ต้องวงด้าย คือไม่ต้องตั้งภาชนะน้ำสำหรับทำน้ำมนต์ และไม่มีการวงด้ายสายสิญจน์

๓) เตรียมสายโยง หรือภูษาโยง ต่อจากศพไว้เพื่อใช้บังสุกุล สายโยงนั้นก็ใช้ด้ายสายสิญจน์นั่นเอง ถ้าไม่ใช้สายสิญจน์ก็ใช้ทำเป็นแผ่นผ้าแทนเรียกว่า ภูษาโยง ดังที่ของหลวงใช้อยู่ การเดินสายโยงหรือภูษาโยง จะโยงในที่สูงกว่าพระพุทธรูปที่ตั้งในพิธีไม่ได้ และจะปล่อยให้ลาดมากับพื้นดิน หรือนั่งก็ไม่เหมาะ เพราะสายโยงนี้ เป็นสายที่ล่ามโยงออกมาจากกระหม่อมของศพ เป็นสิ่งเนื่องด้วยศพจึงต้องล่ามหรือให้สมควร

๔) เมื่อพระสงฆ์มาถึงแล้ว เจ้าภาพจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา และจุดธูปเทียนที่หน้าศพ

๕) หลังจากพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว นิยมให้มีการบังสุกุล แล้วจึงถวายไทยธรรม เมื่อพระสงฆ์อนุโมทนา พึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลต่อไป

๖) การสวดมนต์ของพระสงฆ์ มีระเบียบนิยมเหมือนกัน ต่างกันแต่ตอนกลาง มีนิยมเฉพาะงาน ดังนี้
- ทำบุญเจ็ดวัน สวดอนัตตลักขณสูตร
- ทำบุญศพ ๕๐ วัน สวดอาทิตตปริยายสูตร
- ทำบุญศพ ๑๐๐ วัน หรือทำบุญวันปลงศพสวดธรรมนิยามสูตร
- ทำบุญศพในวาระอื่น จะสวดสูตรอื่นใด นอกจากที่กล่าวนี้ก็ได้ แล้วแต่เจ้าภาพประสงค์ แต่มีธรรมเนียมอยู่ว่า ไม่สวดเจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธรรมจักร มหาสมัย

๗) ในการสวดมีระเบียบปฏิบัติคือ เมื่อให้ศีล และเจ้าภาพอาราธนาพระปริตรแล้วไม่ต้องขัด สคฺเค ทุกรูปประนมมือพร้อมกันแล้ว หัวหน้านำสวด
- นมการปาฐะ (นโม ฯลฯ)
- สรณคมนปาฐะ (พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ)
- ปัพพโตปมคาถาและอริยธนคาถา (ยถาปิ เสสา ฯลฯ)
พอจบตอนนี้ พระสงฆ์ทั้งหมดลดมือลงแล้วรูปที่นั่งอันดับสามตั้งพัด ขัดบทขัดของสูตรที่กำหนดสวดตามงานดังกล่าวแล้ว เมื่อขัดจบวางพัด ทุกรูปประนมมือพร้อมกัน หัวหน้านำสวดสูตรที่ขัดนำนั้น จบสูตรแล้วนำสวดบทท้ายสวดมนต์ของงานอวมงคลคือ
- ปฏิจจสมุปบาท (อวิชฺชาปจฺจยา สงฺ ขารา ฯลฯ)
- พุทธอุทานคาถา (อทา หเว ฯลฯ )
- ภัทเทกรัตตคาถา (อตีตํ มานฺวาดเมยฺย ฯลฯ)
- ภวตุ สพฺพมงฺคลํ
ถ้าสวดธรรมนิยามสูตร ใช้สวดติลักขณาทิคาถา (สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ฯลฯ เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ) ก่อนสวดปฏิจจสมุปบาท

เมื่อสวดมนต์แล้ว ถ้ามีการชักผ้าบังสุกุลต่อท้าย เจ้าภาพจะลากสายโยง หรือภูษาโยง แล้วทอดผ้า พอทอดถึงรูปสุดท้าย พระสงฆ์ก็ตั้งพัดพร้อมกัน การตั้งพัดในพิธีชักบังสุกุลให้ใช้มือซ้ายจับพัด แล้วใช้มือขวาจับผ้าบังสุกุล การจับผ้าให้จับหงายมือใช้นิ้วมือทั้งสี่นิ้ว เว้นนิ้วแม่มือสอดเข้าใต้ผ้าที่ชักใช้นิ้วแม่มือจับบนผ้า อย่าจับคว่ำมือหรือเพียงใช้นิ้วแตะ ๆ ที่ผ้าเป็นอันขาด เมื่อจับพร้อมกันทุกรูปแล้ว เริ่มว่าบทชักบังสุกุล (อนิจฺจา วต สงฺขารา ฯลฯ) พร้อมกัน จบแล้วชักผ้าออกจากสายโยงหรือภูษาโยงวางไว้ตรงหน้า

ข้อความที่กล่าวมานี้เป็นงานที่เจ้าภาพทำสองวัน คือสวดมนต์วันหนึ่ง เลี้ยงพระอีกวันหนึ่ง ถ้าเป็นงานวันเดียวให้สวดมนต์ก่อนฉัน ในการสวดมนต์นั้น เมื่อสวด ภัทเทกรัตตคาถา จบแล้วให้สวดถวายพรพระต่อไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธีสวดมนต์

ในกรณีที่มีเพียงสวดมนต์ ไม่มีการเลี้ยงพระ ไม่ต้องสวดบทถวายพรพระ เมื่อพระสงฆ์รับไทยธรรมแล้ว ในการอนุโมทนาด้วย บทวิเสสอนุโมทนา พึงใช้บท อทาสิ เม ฯลฯ เพราะศพยังปรากฏอยู่

งานทำบุญอัฐิ เจ้าภาพพึงจัดเตรียมทำนองเดียวกันกับงานทำบุญหน้าศพ ต่างแต่เพียงงานนี้เป็นงานทำบุญหน้าอัฐิ หรือรูปของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว เจ้าภาพต้องเตรียมที่ตั้งอัฐิ หรือที่ตั้งรูประลึกนั้น ๆ ต่างหาก จากโต๊ะบูชา ให้มีดอกไม้ตั้งหรือประดับพองาม และตั้งกระถางธูปกับเชิงเทียน หนึ่งคู่ที่หน้าโต๊ะ หรือรูปนั้นด้วยเพื่อบูชา จะใช้พานหรือกระบะเครื่องห้าสำหรับบูชาแทนก็ได้

พิธีฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ ส่วนใหญ่ก็พึงปฏิบัติเช่นเดียวกับงานทำบุญหน้าศพ ต่างแต่การสวดมนต์ นิยมใช้สูตรอื่น จากอนัตตลักขณสูตร

ที่มา : หอมรดกไทย

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ