การทำบุญงานมงคล และข้อปฏิบัติบางประการ
พิธีอย่างย่อคือการทำบุญตักบาตร ในการทำบุญเลี้ยงพระมีเรื่องที่พึงปฏิบัติ ดังนี้
๑) การอาราธนาพระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ ไม่จำกัดจำนวนข้างมาก แต่นิยมกำหนดจำนวนข้างน้อยไว้โดยเกณฑ์ คือไม่ต่ำกว่าห้ารูป เกินขึ้นไปก็เป็นเจ็ดรูป หรือเก้ารูป ไม่นิยมพระสงฆ์จำนวนคู่ เพราะถือว่าการทำบุญครั้งนี้ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานแบบเดียวกับครั้งพุทธกาล โดยตั้งพระพุทธรูปไว้ข้างหน้าแถวพระสงฆ์ นับจำนวนรวมกับพระสงฆ์เป็นคู่ เว้นแต่ในงานมงคลสมรส มักนิยมนิมนต์พระสงฆ์จำนวนคู่ แต่ในพิธีหลวงปัจจุบัน มักอาราธนาพระสงฆ์เป็นจำนวนคู่
๒) การเตรียมที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชา ที่ตั้งพระพุทธรูปพร้อมทั้งเครื่องบูชาในงานพิธีต่างนิยมเรียกว่า โต๊ะบูชา โต๊ะบูชาประกอบด้วยโต๊ะรอง และเครื่องบูชา โต๊ะรองเป็นที่ตั้งพระพุทธรูปและเครื่องบูชา ที่นิยมใช้เป็นโต๊ะหมู่ ซึ่งสร้างไว้โดยเฉพาะเรียกกันว่า โต๊ะหมู่บูชา มีหมู่ห้า หมู่เจ็ด และหมู่เก้า หมายความว่าหมู่หนึ่ง ๆ ประกอบด้วยโต๊ะห้าตัว เจ็ดตัว และเก้าตัว ถ้าหาโต๊ะหมู่ไม่ได้จะใช้ตั่งหรือโต๊ะอะไรที่สมควรก็ได้ มีหลักสำคัญอยู่ว่าต้องใช้ผ้าขาวปูก่อน ถ้าจะใช้ผ้าสีก็ต้องเป็นผ้าสะอาด ที่ยังไม่ได้ใช้งานอย่างอื่นมาก่อน
การตั้งโต๊ะบูชามีหลักว่า ต้องหันหน้าโต๊ะออกไปทางเดียวกับพระสงฆ์ สำหรับทิศทางที่จะประดิษฐานพระพุทธรูป มักให้ผินพระพักตร์ไปทางทิศเหนือ ด้วยถือว่าพระพุทธเจ้าเป็นโลกอุดร หรือมิฉะนั้นก็ให้หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ก็ถือว่า เป็นทิศที่พระพุทธเจ้าประทับนั่งผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ในคืนวันตรัสรู้
การตั้งเครื่องบูชา ถ้าเป็นโต๊ะเดี่ยว เครื่องบูชาควรมีแจกันประดับดอกไม้หนึ่งคู่ ตั้งสองข้างพระพุทธรูป หน้าพระพุทธรูปตั้งกระถางธูปกับเชิงเทียนหนึ่งคู่ เชิงเทียนตั้งตรงกับแจกัน สำหรับโต๊ะหมู่มีการตั้งเชิงเทียนมากกว่าหนึ่งคู่ แจกันดอกไม้มากกว่าหนึ่งคู่ และมีพานดอกไม้ตั้งเป็นคู่และอยู่กลางหนึ่งพาน
๓) การวงด้ายสายสิญจน์ คำว่าสิญจน์แปลว่าการรดน้ำ สายสิญจน์ทำด้วยด้ายดิบ โดยวิธีจับด้ายในเข็ด สาวชักออกเป็นห่วง ๆ สาวชักออกมาเป็นห่วง ๆ ให้สัมพันธ์เป็นสายเดียวกัน จากด้ายในเข็ดเส้นเดียวจับออกครั้งแรกเป็นสามเส้น ม้วนเข้ากลุ่มไว้ ถ้าต้องการให้สายใหญ่ก็จับอีกครั้งหนึ่ง จะกลายเป็นเก้าเส้นในงานมงคลทุกประเภท นิยมใช้สายสิญจน์เก้าเส้น
การวงสายสิญจน์ มีเกณฑ์ถืออยู่ว่า ถ้าเป็นบ้านมีรั้วรอบ ให้วงรอบรั้ว ถ้าไม่มีรั้วรอบหรือมีแต่กว้างเกินไป ก็ให้วงเฉพาะอาคารพิธีโดยรอบ ถ้าไม่ต้องการวงสายสิญจน์รอบรั้ว หรือรอบอาคาร จะวงสายสิญจน์ที่ฐานพระพุทธรูปบนโต๊ะบูชาเท่านั้น แล้วโยงมาที่ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ก็ได้ พึงวางกลุ่มด้ายสายสิญจน์ไว้บนพานสำหรับรองสายสิญจน์ ซึ่งอยู่ทางหัวอาสนะสงฆ์ใกล้ภาชนะสำหรับทำน้ำมนต์ การวงสายสิญจน์ถือหลักวงจากซ้ายไปขวา ของสถานที่หรือวัตถุ ขณะที่วงสายสิญจน์อย่าให้สายสิญจน์ขาด สายสิญจน์ที่วงพระพุทธรูปแล้วจะข้ามกรายไม่ได้ หากมีความจำเป็นที่จะต้องผ่าน ให้ลอดมือหรือก้มศีรษะลอดใต้สายสิญจน์
๔) การปูลาดอาสนะสำหรับพระสงฆ์ นิยมใช้กันอยู่สองวิธีคือ ยกพื้นอาสนะสงฆ์ให้สูงขึ้น โดยใช้เตียงหรือม้าวางต่อกันให้ยาวพอแก่จำนวนสงฆ์ อีกวิธีหนึ่งปูลาดอาสนะบนพื้นธรรมดา จะใช้เสื่อหรือผ้าที่สมควรปู ข้อสำคัญคือ อย่าให้อาสนะพระสงฆ์กับที่นั่งของคฤหัสถ์เป็นอันเดียวกัน ควรปูลาดให้แยกจากกัน ถ้าปูเสื่อหรือพรมไว้เต็มห้อง ควรให้ผ้าขาวหรือผ้านิสีทนะก็ได้ปูทับลงไปอีกชั้นหนึ่ง
๕) การเตรียมเครื่องรับรองพระสงฆ์ ตามแบบและตามประเพณีก็มีหมากพลู บุหรี่ น้ำร้อน น้ำเย็น กระโถน การวางเครื่องรับรองเหล่านี้ ต้องวางทางด้านขวามือของพระ วางกระโถนข้างในสุดเพราะไม่ต้องประเคนถัดออกมาเป็นภาชนะน้ำเย็น ถัดออกมาอีกเป็นภาชนะใส่หมากพลู บุหรี่ ซึ่งรวมอยู่ในที่เดียวกัน เมื่อพระสงฆ์นั่งก็ประเคนของตั้งแต่ข้างในออกมาข้างนอก
๖) การตั้งภาชนะทำน้ำมนต์ ถ้าไม่มีครอบน้ำมนต์ จะใช้บาตรพระหรือขันน้ำพานรองแทนก็ได้ แต่ขันต้องไม่ใช่ขันเงินหรือขันทองคำ หาน้ำสะอาดใส่ในภาชนะน้ำมนต์ ห้ามใช้น้ำฝน ใส่น้ำเพียงค่อนภาชนะ ควรจะหาใบเงินใบทองใส่ลงไปด้วยเล็กน้อย หรือจะใช้ดอกบัวแทนก็ได้ ต้องมีเทียนน้ำมนต์หนึ่งเล่ม ควรเป็นเทียนขี้ผึ้งแท้ขนาดหนักหนึ่งบาทเป็นอย่างต่ำติดที่ขอบภาชนะ ไม่ต้องจุด เอาไปวางไว้ข้างหน้าโต๊ะบูชา ให้ค่อนมาทางอาสนะพระสงฆ์ ใกล้กับรูปที่เป็นหัวหน้า จะได้ทำพิธีได้สะดวก
๗) การจุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา และที่ทำน้ำมนต์ เจ้าภาพควรเป็นผู้จุดธูปเทียนที่โต๊ะบูชา ควรจุดเทียนก่อน โดยจุดด้วยไม้ขีดไฟ หรือเทียนชนวน อย่าต่อจากไฟอื่น เมื่อเทียนติดแล้วใช้ธูปสามดอกจุดต่อที่เทียนจนติดดีจึงปักธูปตรง ๆ ในกระถางธูป
ต่อจากนั้นจึงเริ่มพิธีไปตามลำดับ คืออาราธนาศีล รับศีล อาราธนาพระปริตร จบแล้วพระสงฆ์เริ่มสวดมนต์ ทุกคนที่อยู่ในพิธีพึงนั่งประนมมือ ฟังพระสวดด้วยความเคารพ พอพระเริ่มสวดมงคลสูตรขึ้นต้นบท อเสวนา จ พาลานํ เจ้าภาพพึงเข้าไปจุดเทียนน้ำมนต์ แล้วประเคนบาตร หรือครอบน้ำมนต์นั้น ต่อหัวหน้าพระสงฆ์
๘) ข้อปฏิบัติในวันเลี้ยงพระ ถ้าเป็นงานสองวันพึงจัดอย่างวันสวดมนต์เย็น เมื่อพระภิกษุสงฆ์มาพร้อมแล้ว เจ้าภาพพึงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระ แล้วอาราธนาศีลรับศีลเช่นเดียวกับวันก่อน ไม่ต้องอาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จะเริ่มสวดถวายพรพระเอง ก็มีการตักบาตรด้วย พึงเริ่มลงมือตักบาตรขณะพระสงฆ์สวดถึงบท พาหํ และให้เสร็จก่อนพระสวดจบ เตรียมยกบาตร และภัตตาหารมาตั้งไว้ให้พร้อม พระสวดจบก็ประเคนให้พระฉันได้ทันที ถ้าไม่มีตักบาตร เจ้าภาพก็นั่งประนมมือฟังพระสวดไปจนจบ
ถ้าเป็นงานวันเดียว คือสวดมนต์ก่อนฉัน ควรตระเตรียมต่าง ๆ คงจัดครั้งเดียว พระภิกษุสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ก่อน แล้วสวดถวายพรพระต่อท้าย เจ้าภาพพึงนั่งประนมมือฟัง เมื่อพระสงฆ์สวดบทถวายพรพระจบ ก็ยกภัตตาหารประเคนได้
เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จแล้ว ถวายเครื่องไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา ขณะพระว่าบท ยถา ฯลฯ ให้เริ่มกรวดน้ำให้เสร็จก่อนจบบท พอพระว่าบท สพฺพีติโย ฯลฯ พร้อมกันพึงประนมมือรับพรไปจนจบ เป็นอันเสร็จพิธี
การเลี้ยงพระในพิธีทำบุญเลี้ยงพระ มีประเพณีโบราณสืบเนื่องกันมานานคือ ประเพณีถวายข้าวพระพุทธ ถ้ามีตักบาตรก็ต้องตั้งบาตรพระพุทธไว้หัวแถวด้วย ข้าวพระพุทธที่ถวายนั้นนิยมจัดอย่างเดียวกันกับที่ถวายพระสงฆ์ เมื่อเสร็จภัตกิจแล้วข้าวพระพุทธนั้นตกเป็นของมรรคทายกวัด หรืออุบาสกอุบาสิกาในงาน การถวายนี้เป็นหน้าที่ของเจ้าภาพ พึงใช้ผ้าขาวปูบนโต๊ะที่จะนำมาตั้งรองข้าวพระพุทธตรงหน้าโต๊ะบูชา แล้วตั้งสำรับคาวหวานพร้อมทั้งข้าวน้ำให้บริบูรณ์ เสร็จแล้วจุดธูปสามดอก ปักในกระถางธูปหน้าโต๊ะบูชา นั่งคุกเข่าประนมมือตรงหน้าที่ตั้งข้าวพระพุทธและโต๊ะบูชา ว่า นโมสามจบ แล้วว่าคำถวายดังนี้ อิมํ สูปพยยญฺชนสมฺปนฺนํ ,สาลีนํ โอทนํ , อุทกํ วรํ พุทฺธสฺส ปูเชมิ จบแล้วกราบสามครั้ง ต่อนี้จึงจัดถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์ตามวิธีที่กล่าวมาแล้ว เมื่อเสร็จภัตกิจ และพระสงฆ์อนุโมทนาแล้ว เป็นหน้าที่ของอุบาสกหรืออุบาสิกา จะลาข้าวพระพุทธนั้นมารับประทาน ผู้ลาข้าวพระพุทธพึงเข้าไปนั่งคุกเข่าหน้าสำรับที่หน้าโต๊ะบูชา กราบสามครั้ง ประนมมือกล่าวคำว่า เสสํ มงฺคลา ยาจามิ แล้วไหว้ต่อนั้นยกข้าวพระพุทธออกไปได้
ที่มา : หอมรดกไทย
No comments:
Post a Comment