พิธีถวายพรพระ
ในงานทำบุญเลี้ยงพระต่อเนื่องจากการเจริญพระพุทธมนต์ หรือสวดพระพุทธมนต์ ก่อนถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุในพิธี มีนิยมถวายพรพระเป็นพิธีสงฆ์นำด้วย ถ้างานในวันเดียว การสวดถวายพรพระให้ต่อท้ายพิธีสวดมนต์ แต่ถ้ามีพิธีสวดมนต์หลังเลี้ยงพระ ก่อนฉันพระสงฆ์ก็ต้องทำพิธีสวดถวายพรพระนำก่อนทุกครั้งนี้ เป็นธรรมเนียมในงานทำบุญเลี้ยงพระจะเว้นเสียมิได้ พิธีถวายพรพระตามธรรมเนียมนี้มีอยู่สองอย่าง มีระเบียบพิธีดังนี้
การสวดถวายพรพระกรณีสามัญ ใช้ในงานทำบุญทั่วไปทั้งงานมงคล และงานอวมงคล เมื่อพระสงฆ์ขึ้นนั่งยังอาสนะเรียบร้อยแล้ว มีการดำเนินการต่อไปดังนี้
๑) เจ้าภาพจุดธูปเทียนหน้าที่บูชา ถ้าทำบุญหน้าศพ ให้จุดธูปเทียนหน้าศพก่อน แล้วอาราธนาศีล
๒) หัวหน้าสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัด ถ้าเป็นงานทำบุญหน้าศพไม่มีวงสายสิญจน์ ไม่ต้องแจกสายสิญจน์ เริ่มตั้งพัดอย่างเดียวแล้วให้ศีล จบแล้ววางพัดเข้าที่ พระสงฆ์ทุกรูปประนมมือพร้อมกัน ถ้ามีสายสิญจน์ พึงคล้องสายสิญจน์ที่ง่ามนิ้วแม่มือทั้งสอง จากนั้นหัวหน้าสงฆ์นำสวดบทถวายพรพระตามลำดับ ดังนี้
# สวด นโม ฯลฯ
# สวด อิติปิ โส ฯลฯ
# สวด พาหุํ ฯลฯ
# สวด มหากรุณิโก ฯลฯ
# สวด ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
๓) ถ้ามีพิธีตักบาตรด้วย เช่นในงานฉลองพระบวชใหม่ ในงานทำบุญแต่งงาน เป็นต้น พอพระเริ่มสวดบท พาหุํ ฯลฯ เจ้าภาพพึงลงมือตักบาตรในระหว่างนี้ และทุก ๆ งาน จะมีการตักบาตรหรือไม่ก็ตาม พอพระสงฆ์เริ่มสวดบท มหากรุณิโก ฯลฯ ก็ให้เตรียมยกภัตตาหารเข้าประจำที่พระสงฆ์ทันที พอพระสงฆ์สวดจบ เริ่มประเคนพระ หรือเริ่มถวายทานตามนิยม แล้วคอยอังคาสพระสงฆ์ตลอดเวลาที่ฉัน เมื่อพระฉันเสร็จแล้วถวายไทยธรรม พระสงฆ์อนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี
ถ้าในงานที่มีพิธีสวดมนต์ก่อนฉัน ฝ่ายพระสงฆ์พึงสวดบทถวายพรพระตั้งแต่บท พาหุํ ฯลฯ ต่อท้ายพิธีสวดมนต์ไปจนจบ
เป็นการผนวกพิธีสวดถวายพรพระเข้าด้วยกันกับพิธีสวดมนต์
การสวดถวายพรพระในกรณีพิเศษ ใช้ในงานพระราชพิธีที่ประกอบด้วยพระฤกษ์ เช่น พระฤกษ์โสกันต์ พระฤกษ์เกศากันต์ พระฤกษ์สรงในพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้น ระเบียบสวดถวายพรพระก่อนรับพระราชทานฉัน มีดังนี้
๑) สังฆการี อาราธนาศีล สมเด็จพระราชาคณะ หรือพระราชาคณะเป็นหัวหน้าสงฆ์แจกสายสิญจน์แล้วตั้งพัดถวายศีล
๒) จบถวายศีลแล้วได้ฤกษ์เจ้าพนักงานลั่นฆ้องชัยประโคมแตรสังข์ พระสงฆ์ทั้งนั้นเริ่มสวด
# บท ชยนฺโต ฯลฯ หลาย ๆ จบ จนเสร็จพิธี
# บท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ จบแล้วพัก
พอใกล้เวลาภัตตกิจพึงสวดถวายพรพระตามบท ตั้งแต่ นโม ฯลฯ อิติปิโส ฯลฯ เป็นต้นไปจนจบอีกวาระหนึ่ง แต่ถ้าเวลาฤกษ์อยู่หลังภัตตกิจ ก็ถวายศีล และถวายพรพระอย่างในกรณีสามัญที่กล่าวแล้ว และทำภัตตกิจก่อน เสร็จแล้วได้เวลาพระฤกษ์จึงสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ และบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ ในการประกอบพิธีตามพระฤกษ์นั้น แต่การสวดประกอบพระฤกษ์เฉพาะพระฤกษ์หล่อพระ พระฤกษ์ยกยอดพระปราสาท และพระราชมณเฑียร และพระฤกษ์ยกช่อฟ้าโบสถ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น นอกจากสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ และ ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ แล้วจะนิยมใช้วิธีสวดอีกแบบหนึ่ง คือ พอเริ่มต้นฤกษ์ก็สวด
# บท ทิวา ตปฺปติ อาทิจฺโจ ฯลฯ
# บท ชยนฺโต ตัดเฉพาะขึ้น สุนกฺขตฺตํ ฯลฯ
# บท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
นอกนั้นสวดถวายพรพระก่อนภัตตกิจ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้ว
สำหรับงานประกอบฤกษ์ของสามัญชนทั่วไป เช่นงานมงคลโกนผมไฟ มงคลตัดจุก โดยประเพณีนิยม ถือฤกษ์พระเวลาเช้าเป็นสำคัญ การสวดถวายพรพระของฝ่ายสงฆ์ จึงเท่ากับเป็นการเริ่มต้นฤกษ์ พระสงฆ์พึงดำเนินพิธีไปแทรกโดยลำดับได้จนถึงสวดบท มหาการุณิโก ฯลฯ ให้สวดบทนี้ไปยุติตรงคำว่า โหตุ เต ชยมงฺคลํ เท่านี้ก่อน ถ้ามีฤกษ์โหรประกอบด้วยต้องรออยู่จนได้ฤกษ์ พอพร้อมหรือได้ฤกษ์แล้วพระสงฆ์ก็เริ่มสวดบท ชยนฺโต ฯลฯ ต่อ และสวดบทนี้ไม่น้อยกว่าสามจบ หรือซ้ำอยู่จนพิธีของฝ่ายเจ้าภาพเสร็จ แล้วสวดบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ เป็นอันเสร็จพิธี
ที่มา : หอมรดกไทย
No comments:
Post a Comment