พิธีเจริญพระพุทธมนต์
การเจริญพระพุทธมนต์ เป็นพิธีกรรมฝ่ายสงฆ์พึงปฏิบัติโดยเฉพาะในงานมงคลต่าง ๆ ได้แก่ พระสงฆ์ตามจำนวนนิยมของพิธีร่วมกันสาธยายมนต์ จากคาถาพุทธภาษิตบ้าง จากพระสูตรบ้าง จากมนต์ของเกจิอาจารย์ เป็นธรรมคติบ้าง ตามที่พระโบราณาจารย์กำหนดไว้โดยควรแก่พิธีนั้น ๆ การสาธยายมนต์ของพระสงฆ์ในพิธีทำบุญ ถ้าเป็นงานมงคลนิยมเรียกว่า เจริญพระพุทธมนต์ ถ้าเป็นงานอวมงคลนิยมเรียกว่า สวดพระพุทธมนต์ แต่ชาวบ้านโดยทั่วไปเรียกกันว่า สวดมนต์ ไม่ว่าจะเป็นงานใด
บทพระพุทธมนต์ที่ใช้ในงานมงคลต่าง ๆ ใช้กันโดยทั่วไป มีดังนี้
เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร มหาสมยสูตร โพชฌงคสูตร คิริมานนทสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ชยมงคลคาถา คาถาจุดเทียนชัย และคาถาดับเทียนชัย
การเจริญพระพุทธมนต์ นิยมใช้บทเจ็ดตำนานเป็นพื้น แต่บทสวดมนต์ที่เรียกว่า เจ็ดตำนานนี้ พระโบราณาจารย์ได้กำหนดพระสูตรคาถา และหัวข้อ พุทธภาษิต บรรดาที่มีอานุภาพในทางแนะนำและป้องกันสรรพภัยพิบัติ ซึ่งรวมเรียกว่าพระปริตต์ ไว้ให้เลือกสวดมากบทด้วยกันคือ
มงคลสูตร รตนสูตร กรณียเมตตสูตร ขันธปริตต์ โมรปริตต์ ธชัคคปริตต์ หรือ ธชัคคสูตร อาฏานาฏิยปริตต์ โพชฌงคปริตต์ มีองคุลิมาลปริตต์ เป็นบทต้น เมื่อรวมโมงปริตต์เข้ากับธชัคคปริตต์ ก็จะเหลือเพียงเจ็ดบท
ในการสวดโดยทั่วไปนิยมใช้สวดเพียงเจ็ดบท หรือน้อยกว่า ทั้งนี้แล้วแต่ความสำคัญของงาน และเวลาที่สวดมนต์จะอำนวยให้ ดังนั้นในการสวดเจ็ดตำนาน จึงเกิดความนิยมในภายหลังเป็นสามแบบ เรียกว่าแบบเต็ม แบบย่อ และแบบลัด
การสวดมนต์ จะสวดบทสวดมนต์ อย่างไรก็ตาม บทสวดมนต์นั้น ๆ ต้องมีเบื้องต้นเรียกว่า ต้นสวดมนต์ หรือต้นตำนาน ต่อจากบทเบื้องต้นเป็นท่ามกลางสวดมนต์ ซึ่งได้ตำนานหรือพระปริตร์ หรือสูตรต่าง ๆ ตามกำหนด สุดท้ายเป็นเบื้องปลายของบทสวดมนต์ เรียกกันว่า ท้ายสวดมนต์
ถ้าเป็นงานใหญ่ จะมีสวดมนต์เย็นวันหนึ่งก่อน รุ่งขึ้นเลี้ยงพระ นิยมสวดเจ็ดตำนานเต็ม ให้พระสงฆ์ขัตตำนานขัตนำทุกตอน และทุกบทที่สวดด้วย ดังนี้
ต้นตำนาน ขัตนำ สคฺเค ถ้าสวดในงานพระราชพิธีขัตขึ้นต้นตั้งแต่ สรชฺชํ สเสนํ ฯลฯ แต่ถ้าสวดในงานราษฎร์ทั่วไปขัตขึ้นต้นตรง ผริตฺวาน เมตฺตํ ฯลฯ
# สวดบทนมัสการ นโม ตสฺส ภควโต ฯลฯ
# สวดบท สรณคมนปาฐะ พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ฯลฯ
# สวดบท สมฺพุทฺเธ ฯลฯ แต่ปัจจุบันใช้บท นมการสิทธิคาถา โย จกฺขุมา ฯลฯ
# สวดบท นมการอัฏฐคาถา นโม อรหโต ฯลฯ
ตัวตำนานหรือพระปริตร จัดขัตตำนาน และต่อนำมงคลสูตร เย สนฺตา ฯลฯ ถึง ญาติภิ ต่อ ยญฺจทฺวาทสวสฺสานิ ฯลฯ จนจบ
# สวดมงคลสูตร เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
# ขัตนำ รตนสูตร ปณิธานโต ปฏฺฐาย ฯลฯ
# สวด รตนสูตร ยานิธ ภูตานิ ฯลฯ
# ขัตนำ กรณียเมตตสูตร ยสฺสานุ ภาวโต ฯลฯ
# สวด กรณียเมตตสูตร กรณียมตฺถกุสฺเลน ฯลฯ
# ขัตนำ ขันธปริตต์ สพฺพาสีวิสชาตีนํ ฯลฯ
# สวด ขันธปริตต์ วิรูปกฺเขติ เมตฺตํ ฯลฯ
# ขัตนำ โมรปริตต์ ปูเรนฺตมฺโพธิสมฺภาเร ฯลฯ
# สวด โมรปริตต์ อุเทตยญฺจกฺขุมา ฯลฯ
# ขัตนำ ธชัคฺคปริตต ยสฺสานุสฺสรเณนาปิ ฯลฯ
# สวด ธชัคคปริตต์ เอวมฺเม สุตํ ฯลฯ
# ขัตนำ อาฏานาฏิยปริตต์ อปฺปสนฺเนหิ นาถสฺส ฯลฯ
# สวด อาฏานาฏิยปริตต์ วิปสฺสิ นมตฺถุ ฯลฯ
# ขัตนำ องคุลิมาลปริตต์ ปริตฺตํ ยมฺภณนฺตสฺส ฯลฯ
# สวด องคุลิมาลปริตต์ ยโตหํ ภคินี ฯลฯ
ท้ายตำนาน
# สวดบท ยนฺทุนฺนิมิตฺตํ ฯลฯ
# สวดบท ทุกฺขปฺปตฺตา ฯลฯ
# สวดบท มหากรุณิโกนาโถ ฯลฯ
# สวดบท สกฺกตฺวา พุทฺธรตฺตนํ ฯลฯ
# สวดบท ยงฺกิญฺจิ รตนํ โลเก ฯลฯ
ถ้าเป็นงานพระราชพิธีต่อไปให้สวดบท รตนตฺตยปฺปภาวาภิยาจนคาถา อรหํ ฯลฯ และสุขาภิยาจนคาถา ยํยํ ฯลฯ หรือจะสวด อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ฯลฯ แทนก็ได้ ต่อไปสวดบทมงคลจักรวาฬใหญ่ สิริธิติ ฯลฯ
# สวดบท ภวตุ สพฺพมงฺคลํ ฯลฯ
# สวดบท นกฺขตฺตยกฺขภูตานํ ฯลฯ
การสวดเจ็ดตำนานแบบเต็ม ต้องใช้เวลาสวดประมาณ สองชั่วโมง ส่วนการสวดย่อจะใช้เวลาประมาณ ๓๐ - ๔๕ นาที นอกจากนี้ยังมีสวดแบบลัดใช้เวลาประมาณ ๒๐ นาที หลักการสวดแบบลัด จะเว้นไม่สวดมงคลสูตร กับรตนสูตรไม่ได้ เพราะถือกันว่างานบุญมงคลต้องมีมงคลสูตรเป็นหลัก กับรตนสูตรเป็นบททำน้ำพระพุทธมนต์
ที่มา : หอมรดกไทย
No comments:
Post a Comment