2008-11-12

ปฐมเหตุเวสสันดรชาดก


ปฐมเหตุเวสสันดรชาดก

พระพุทธองค์ สมัยเมื่อเสด็จละจากมหาวิหารเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์อันเป็นราชธานีแห่งมคธ สู่นคร กบิลพัสดุ์ แขวงสักกชนบท เพื่อบำเพ็ญญาตัตถจริยาโปรดพระญาติ มี พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดาเป็นประธาน
อันพระกาฬุทายีเป็นผู้สื่อสาร และนำเสด็จไปประทับยังนิโครธาคาม ไม่ห่างจากมหานคร ตามที่ศากยราชจัดถวายต้อนรับพร้อมด้วยหมู่ภิกษุบริวารเป็นอันมาก (๑ แสน) ยังความยินดีให้แผ่ไปทั่วทั้งกบิลพัสดุ์ ในกาลนั้นความมหัศจรรย์ได้บังเกิดขึ้น เป็นเหตุให้ทรงประกาศเรื่อง เวสสันดรชาดก

โดยปกติพระตถาคตเจ้า เสด็จสู่ ณ ที่ใด ก็บังเกิดสู่ความสงบสุข ณ ที่นั้น เพราะอานุภาพคำสั่งสอนที่ตรัสประทานด้วยพระมหากรุณา อุปมาเหมือนมหาเมหหลั่งโปรยสายฝนอันเย็นฉ่ำลงมายังโลก ยังความอ้าวระอุของไอแดดไอดินให้ระงับ ชุบชีพพฤกษชาติที่เหี่ยวเฉาให้ฟื้นฟู สู่ความชื่นบานตระการด้วยดอกช่อและก้านใบฉะนั้น

แต่สำหรับกบิลพัสดุ์ดินแดนที่ทรงถือพระกำเนิดและเจริญวัยมา มวลพระญาติและญาติประชา หาได้ยินดีต่อพุทธวิสัยธรรมานุภาพไม่ พระองค์ทรงอุบัติมาเป็นความหวังของคนทั้งแว่นแคว้น ทุกคนพากันรอคอยอย่างกระหายใคร่จะชมพระบารมีพระจักรพรรดิราช

แต่แล้วท่ามกลางความไม่นึกฝัน ทรงอยู่ในพระเยาวกาลเกศายังดำสนิท ไม่ปรากฏความร่วงโรยแห่งสังขารแท้สักน้อย ทั้งสมบูรณ์พูนพร้อมทุกอย่าง เท่าที่สมบัติประจำวิสัยบุรุษจะพึงมี พระชายาทรงสิริโฉมเป็นเลิศ
ซ้ำเป็นโชคอันประเสริฐให้กำเนิดโอรส อันเป็นสิริแห่งวงศ์ตระกูลอีกเล่า

พระองค์ก็ยังตัดเยื่อใยแห่งโลกีย์ เสด็จแหวกวงล้อมเหล่านี้ออกสู่ไพรพฤกษ์ ประพฤติองค์ปานประหนึ่งพเนจรอนาถา สร้างความผิดหวังและวิปโยคแก่คนทั้งแคว้นเป็นเวลานานปี ๖ ปี

ทรงกระทำงานชีวิต และสำเร็จกิจโดยได้บรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ จากนั้นก็ทรงใช้ไปเพื่องานสงเคราะห์สัตว์โลก เสด็จเที่ยวแจกจ่ายอุบายพ้นทุกข์ ด้วยเทศนาสั่งสอนจนชาวโลกยอมรับและเทิดทูนไว้ในฐานะองค์ศาสดาเอก

บัดนี้ พระพุทธองค์เสด็จคืนกลับกบิลพัสดุ์แล้ว แต่ชาวกบิลพัสดุ์มิได้ต้อนรับในฐานะศาสดา เขาพากันปีติต่อพระองค์ ในฐานะที่เคยเป็นขวัญจิตขวัญใจของเขาเลยต่างหาก (จากหนังสือเรื่องเพลงศาสนา ของหลวงตาแพรเยื่อไม้)

ในวันแรกที่เสด็จถึงดินแดนแห่งมารดร ทรงเห็นว่ายังไม่ใช่โอกาสที่จะประทานธรรมเทศนาแก่หมู่พระญาติ
เพราะวันนี้เป็นวันที่วิถีประสาท และจิตใจตลอดทั้งร่างกายของเหล่าศากยะ เต็มไปด้วยอาการปีติตื่นเต้น และอิดโรยด้วยความยินดี และภารกิจไม่อยู่ในสภาพที่ควรแก่การรองรับกระแสธรรม

ทรงรอวันรุ่ง แต่แล้วในตอนบ่ายของวันต่อมา เมื่อบรรดาศากยราชญาติประยูร พากันเสด็จไปเฝ้าที่นิโครธาราม ก็ทรงประจักษ์ว่า พระทัยของประยูรญาติบางส่วน ยังไม่อยู่ในฐานะควรแก่การรับคำสั่งสอน เพราะมีพระญาติวงศ์รุ่นสูงชันษาบางพระองค์ แสดงอาการทระนงเป็นเชิงว่า “ข้าเกิดก่อน”

เจ้าชายสิทธัตถะจะแสดงความคารวะนบไหว้ หรือสนพระทัยต่อพระพุทธโอวาทก็เกรงจะเสียเชิงของผู้เห็นโลกมาก่อน จึงพากันประทับอยู่ห่างๆ ด้วยพระอาการเคอะเขิน หลบๆ ซ่อนๆ อยู่ตามซุ้มไม้และฉากกั้น ปล่อยแต่บรรดากุมารกุมารีรุ่นเยาว์ชันษาให้ได้เฝ้าอย่างใกล้ชิด

พระอาการอันกระด้างเคอะเขินของพระญาติรุ่นสูงอายุนั้น พระพุทธองค์ทรงสังเกตว่า เกิดจากมูลเหตุอันจะเป็นอุปสรรคสกัด กั้นผลดีที่จึงเกิดที่เกิดแก่เขาเสีย มูลเหตุอันปิดกั้นความงอกงามจำเริญแก่ดวงจิตนั้นก็คือ “ทิฐิมานะ” ความเห็นอันเป็นให้ถือตน ถ้าลงจับจิตสิงใจผู้ใดเข้าแล้ว ก็รังแต่จะทำให้สภาพจิตวิปริตไป เสมือนรากต้นไม้ที่เป็นโรค

แม้ฝนจะฉ่ำน้ำจะโชก แผ่นดินจะฟูอยู่ด้วยรสปุ๋ย รากที่ปิดตันเสียแล้วด้วยอำนาจเชื้อโรค ก็ย่อมไม่ดูดซับเอาโอชะเข้าบำรุงลำต้น เกรียนโกร๋นยืนตายไปในที่สุดฉันใด อนาคตของคนที่มีจิตมากอยู่ด้วยมานะทิฐิก็ฉันนั้น
ทรงพิจารณาดังนี้ จึงเห็นว่ากิจอันควรก่อนอื่น คือ ทำลายความแข็งกระด้าง ล้างความถือดีเสียด้วยอำนาจอิทธิปาฏิหาริย์ ทรงกำหนดจิตเจริญฌาน มีอภิญญาเป็นภาคพื้น ลอยขึ้นสู่ห้วงนภากาศเสด็จลีลาศจงกรมไปมาน่าอัศจรรย์

เพียงเท่านี้เอง ความคิดข้องใจที่ว่าใครอาบน้ำร้อนก่อนหลังก็เลื่อมสูญอันตรธาน พากันอาเศียรคารวะแสดงถึงการยอมรับนับถืออย่างเต็มใจ เมื่อเสด็จลงที่ประทับ ณ พุทธอาสน์ เบื้องนั้น ฝนอันมหัศรรย์อย่างที่ไม่เคยปรากฏมีมาก่อนก็ตกลง ความมหัศจรรย์มีลีกษณะดังนี้

สีเม็ดน้ำฝน แดงเรื่อ เหมือนแก้วทับทิม ผู้ใดปรารถนาให้เปียกก็เปียก ผู้ไม่ปรารถนา แม้ละอองก็ไม่สัมผัสผิวกาย ไม่เลอะเทอะขังนอง ก่อให้เกิดโคลนตมอันปฏิกูล พอฝนหาย แผ่นดินก็สะอาด ตกลงเฉพาะในสมาคมพระญาติ ไม่มีผู้อื่นอยู่ร่วมประชุมด้วย

อนึ่ง คติในความมหัศจรรย์โดยอุปมา มีดังนี้
ข้อที่ ๑ สีของน้ำฝน
ได้แก่ สีโลหิตแห่งความชื่นชมยินดี วันนี้เป็นวันที่ศากยราชทั้งปวงรอคอย ก็สมหวังแล้ว เมื่อพระพุทธองค์เสด็จกลับคืนมา ให้เขาได้เห็นพระรูปพระโฉม จึงพากันชื่นบาน ผิวพรรณก็ซ่านด้วยสายเลือด อย่างที่เรียกว่าราศีของผู้มีบุญ ผิวพรรณอมเลือดฝาด

ข้อที่ ๒ ความชุ่มชื่นของสายฝน
ก็ได้แก่พระธรรมเทศนาที่พุทธองค์ทรงประกาศออกไป มีเหตุมีผลสมบูรณ์ด้วยหลักการ ถ้าผู้ใดตั้งใจฟังด้วยความเคารพ ธรรมก็เข้าสัมผัสจิตสำนึก และสามารถจะปรับปรุงจิตของตนตามหลักแห่งเหตุผลนั้น จนกระทั่งจิตตั้งอยู่ในภาวะเยือกเย็นเหมือนผิวกายต้องละอองฝนแต่สำหรับบุคคลที่ฟังสักแต่ว่าฟัง ธรรมะนั้นก็จะไม่กระทบใจ เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา อุปมาด้วยฝนไม่เปียก

ข้อที่ ๓ ปกติธรรมเป็นของสะอาด
ไม่ก่อทุกข์โทษอันพึงรังเกียจแก่ใครๆ ไม่ว่ากาลไหนๆ

ข้อที่ ๔ พระพุทธจริยา
ครั้งนี้ ทรงมุ่งบำเพ็ญเฉพาะพระญาติศากยะล้วนๆ

เมื่อเหล่าศากยะ ผู้ได้รับความเย็นกายด้วยสายฝน เย็นใจด้วยกระแสธรรม และกราบถวายบังคมลาพากันคืนสู่พระราชนิเวศน์แล้ว แต่นั้นก็ย่างเข้าสู่เจตสนธยากาล แสงแดดอ่อนสาดฝาละอองฝนที่เหลือตกค้างมาแต่ตอนบ่าย ทำให้เกิดบรรยากาศราวกับจะกลายเป็นยามอรุณ ดอกไม้ในสวนเริ่มเผยอกลีบอย่างอิดเอื้อนเหมือนหลงเผลอ แม้นกก็บินกลบรวงรังอย่างลังเล

ภิกษุทั้งหลายกำลังชุมนุมสนทนา ถึงฝนอันมหัศจรรย์และสายัณห์อันเฉิดฉาย ลงท้ายก็พากันเทิดทูนพุทธบารมี ที่บันดาลให้ทุกสิ่งเป็นไปแล้วอย่างพิศวงยิ่ง

พระพุทธองค์เสด็จสู่ลงสนทนาของภิกษุพุทธสาวก เมื่อทรงทราบถึงมูลเหตุอุเทศแห่งการสนทนานั้น ก็ตรัสแย้มว่า ฝนนี้เรียกว่า “ฝนโบกขรพรรษ”

ที่ตกลงมาในปัจจุบันนี้ หาชวนอัศจรรย์ไม่ แม้ในอดีตกาล เมื่อทรงอุบัติเกิดเป็นพระโพธิสัตว์ นามว่า “เวสสันดร” ก็ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม จนเป็นเหตุให้ฝนโบกขรพรรษได้ตกลงมานั่นสิ อัศจรรย์กว่า

ภิกษุทั้งหลายต่างพากันกราบทูล พระมหากรุณาให้นำเรื่องครั้งนั้นมาแสดง ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงแสดงเรื่องราวพิสดาร แบ่งเป็นสิบสามกัณฑ์พันพระคาถา

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ