2009-10-16

สิกขาบทวิภังค์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
เตรสกัณฑ์ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๘

สิกขาบทวิภังค์


[๕๔๖] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่า ผู้ใด คือผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติ
อย่างใด มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์
อย่างใด เป็นเถระก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
อนึ่ง ... ใด
บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ
อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า
ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ พระอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า
ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้
เจริญ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์
พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันกำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาภิกษุเหล่านั้น
ภิกษุที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันอุปสมบทให้ ด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะนี้
ชื่อว่า ภิกษุ ที่ทรงประสงค์ในอรรถนี้
บทว่า ซึ่งภิกษุ หมายภิกษุอื่น
บทว่า ขัดใจ มีโทสะ คือโกรธ ไม่ถูกใจ ไม่พอใจ แค้นใจ เจ็บใจ
บทว่า ไม่แช่มชื่น คือ เป็นคนมีใจไม่แช่มชื่น เพราะความโกรธนั้น เพราะโทสะ
นั้น เพราะความไม่ถูกใจนั้น และเพราะความไม่พอใจนั้น
ที่ชื่อว่า อันหามูลมิได้ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ
บทว่า ด้วยธรรมมีโทษถึงปาราชิก คือ ด้วยปาราชิกธรรม ทั้ง ๔ สิกขาบท สิกขาบท
ใด สิกขาบทหนึ่ง
บทว่า ตามกำจัด ได้แก่โจทเอง หรือสั่งให้โจท
พากย์ว่า แม้ไฉนเราจะยังเธอให้เคลื่อนจากพรหมจรรย์นี้ได้ ความว่า ให้เคลื่อน
จากภิกษุภาพ ให้เคลื่อนจากสมณธรรม ให้เคลื่อนจากศีลขันธ์ ให้เคลื่อนจากคุณคือตบะ
[๕๔๗] คำว่า ครั้นสมัยอื่นแต่นั้น ความว่า เมื่อขณะคราวครู่หนึ่งที่ภิกษุผู้ถูกตาม
กำจัดนั้น ผ่านไปแล้ว
บทว่า อันผู้ใดผู้หนึ่งถือเอาตามก็ตาม คือ ภิกษุเป็นผู้ถูกตามกำจัดด้วยเรื่องใด มีคน
เชื่อในเพราะเรื่องนั้นก็ตาม
บทว่า ไม่ถือเอาตามก็ตาม คือ ไม่มีใครๆ พูดถึง
[๕๔๘] ที่ชื่อว่า อธิกรณ์ ได้แก่อธิกรณ์ ๔ อย่าง คือวิวาทาธิกรณ์ ๑ อนุวาทาธิกรณ์ ๑
อาปัตตาธิกรณ์ ๑ กิจจาธิกรณ์ ๑
[๕๔๙] คำว่า แลภิกษุยันอิงโทสะอยู่ ความว่า ภิกษุกล่าวปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าพูด
เปล่าๆ พูดเท็จ พูดไม่จริง ข้าพเจ้าไม่รู้ ได้พูดแล้ว
บทว่า สังฆาทิเสส ความว่า สงฆ์เท่านั้นให้ปริวาสเพื่ออาบัตินั้น ชักเข้าหาอาบัติเดิม
ให้มานัต เรียกเข้าหมู่ ไม่ใช่คณะมากรูปด้วยกัน ไม่ใช่บุคคลรูปเดียว เพราะฉะนั้นจึงตรัส
เรียกว่า สังฆาทิเสส คำว่า สังฆาทิเสส เป็นการขนานนาม คือ เป็นชื่อของอาบัตินิกาย
นั้นแล แม้เพราะเหตุนั้น จึงตรัสเรียกว่า สังฆาทิเสส.

ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=01&A=17506&Z=17542

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ