2009-09-07

สิกขาบทวิภังค์

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๑ มหาวิภังค์ ภาค ๑
ปาราชิกกัณฑ์ ตติยปาราชิกสิกขาบท

สิกขาบทวิภังค์


[๑๘๑] บทว่า อนึ่ง ... ใด ความว่าผู้ใด คือ ผู้เช่นใด มีการงานอย่างใด มีชาติอย่างใด
มีชื่ออย่างใด มีโคตรอย่างใด มีปกติอย่างใด มีธรรมเครื่องอยู่อย่างใด มีอารมณ์อย่างใด
เป็นเถระก็ตาม เป็นนวกะก็ตาม เป็นมัชฌิมะก็ตาม นี้พระผู้มีพระภาคตรัสว่า อนึ่ง ... ใด
บทว่า ภิกษุ ความว่า ที่ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้ขอ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะ-
*อรรถว่า ประพฤติภิกขาจริยวัตร ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า ทรงผืนผ้าที่ถูกทำลายแล้ว ชื่อว่า
ภิกษุ โดยสมญา ชื่อว่า ภิกษุ โดยปฏิญญา ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นเอหิภิกษุ ชื่อว่า ภิกษุ
เพราะอรรถว่า เป็นผู้อุปสมบทแล้วด้วยไตรสรณคมน์ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้เจริญ
ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า มีสารธรรม ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นพระเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ
เพราะอรรถว่า เป็นพระอเสขะ ชื่อว่า ภิกษุ เพราะอรรถว่า เป็นผู้อันสงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุป-
*สมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ บรรดาผู้ที่ชื่อว่าภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใด
ที่สงฆ์พร้อมเพรียงกันให้อุปสมบทแล้วด้วยญัตติจตุตถกรรม อันไม่กำเริบ ควรแก่ฐานะ ภิกษุนี้
พระผู้มีพระภาคทรงประสงค์ว่า ภิกษุ ในอรรถนี้
บทว่า จงใจ ความว่า ภิกษุใดรู้อยู่ รู้ดีอยู่ พรากกายมนุษย์จากชีวิต การกระทำของ
ภิกษุนั้น เป็นความตั้งใจ พยายาม ละเมิด
ที่ชื่อว่า กายมนุษย์ ได้แก่จิตแรกเกิดขึ้น คือ ปฐมวิญญาณปรากฏขึ้นในท้องแห่งมารดา
ตราบเท่าถึงกาลเป็นที่ตาย อัตภาพในระหว่างนี้ ชื่อว่า กายมนุษย์
บทว่า พรากจากชีวิต ความว่า ตัดทอน บั่นรอน ซึ่งอินทรีย์ คือชีวิต ทำความสืบต่อ
ให้กำเริบ
บทว่า หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่กายมนุษย์นั้น ได้แก่ ดาบ หอก
ฉมวก หลาว ฆ้อน หิน มีด ยาพิษ หรือเชือก.
[๑๘๒] บทว่า หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่
พรรณนาคุณในความตาย.
[๑๘๓] บทว่า หรือชักชวนเพื่ออันตาย คือชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ
หรือจงแขวนคอตายด้วยเชือก.
[๑๘๔] บทว่า แน่ะนายผู้เป็นชาย นี้เป็นคำสำหรับเรียก คือคำทักทาย
คำว่า จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันแสนลำบากยากแค้นนี้ ท่านตาย
เสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้ นั้น อธิบายว่า ชีวิตที่ชื่อว่ายากแค้น คือเทียบชีวิตของคนมั่งคั่ง
ชีวิตของคนเข็ญใจ ก็ชื่อว่ายากแค้น เทียบชีวิตของคนมีทรัพย์ ชีวิตของคนไร้ทรัพย์ ก็ชื่อว่ายาก
แค้น เทียบชีวิตของเหล่าเทพเจ้า ชีวิตของพวกมนุษย์ ก็ชื่อว่ายากแค้น ชีวิตของคนมีมือขาด
มีเท้าขาด มีทั้งมือทั้งเท้าขาด มีหูขาด มีจมูกขาด มีทั้งหูทั้งจมูกขาด ชื่อว่าชีวิตอันแสนลำบาก
จะประโยชน์อะไรด้วยชีวิตอันแสนลำบากและยากแค้นเช่นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าเป็นอยู่ ดังนี้
บทว่า มีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ ความว่า ธรรมชาติอันใดเป็นจิต ธรรมชาติอันนั้น
ชื่อว่าใจ ธรรมชาติอันใดเป็นใจ ธรรมชาติอันนั้นชื่อว่าจิต
บทว่า มีความมุ่งหมายหลายอย่าง อย่างนี้ คือมีความหมายในอันตาย มีความ
จงใจในอันตาย มีความประสงค์ในอันตาย
บทว่า โดยหลายนัย คือ โดยอาการมากมาย
บทว่า พรรณนาคุณในความตายก็ดี ได้แก่แสดงโทษในความเป็นอยู่ พรรณนาคุณ
ในความตายว่า ท่านตายจากโลกนี้แล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
จักได้รับบำเรอเพรียบพร้อมอิ่มเอิบด้วยเบญจกามคุณอันเป็นทิพย์ ในสุคติโลกสวรรค์นั้น.
[๑๘๕] บทว่า ชักชวนเพื่ออันตายก็ดี คือชักชวนว่า จงนำมีดมา จงกินยาพิษ
จงแขวนคอตายด้วยเชือก หรือจงโจนลงในบ่อ ในเหว หรือในที่ชัน ฯ
[๑๘๖] คำว่า แม้ภิกษุนี้ พระผู้มีพระภาคตรัสเทียบเคียงภิกษุ ๒ รูปแรก
คำว่า เป็นปาราชิก มีอธิบายว่า ศิลาหนาแตกสองเสี่ยงแล้วเป็นของกลับต่อให้ติด-
*สนิทอีกไม่ได้แม้ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน จงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิตแล้ว ย่อมไม่เป็น
สมณะ ไม่เป็นเชื้อสายพระศากยบุตร เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า เป็นปาราชิก
บทว่า หาสังวาสมิได้ ความว่า ที่ชื่อว่าสังวาสนั้น ได้แก่กรรมที่พึงทำร่วมกัน อุเทศ
ที่พึงสวดร่วมกัน ความเป็นผู้มีสิกขาเสมอกัน นั่นชื่อว่าสังวาส สังวาสนั้นไม่มีกับภิกษุนั้น
เพราะเหตุนั้น จึงตรัสว่า หาสังวาสมิได้.

ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=01&A=7624&Z=7672

No comments:

ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในเว็บไซด์ที่เป็นของ Andaman Amulet ไม่สงวนสิทธิ์ สามารถนำไปเผยแพร่ต่อได้
ข้อความและรูปภาพบางส่วน นำมาจากเว็บไซด์หลายแห่ง ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ติดต่อผู้จัดทำได้ที่ E-mail : skarnwigit@gmail.com


ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก ผู้ขอมักเป็นที่รังเกียจ